แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์และจำเลยอยู่ติดกัน โจทก์ใช้ทางพิพาทเข้าออกที่ดินของโจทก์มานานกว่า 10 ปี ไม่มีบุคคลใดคัดค้านทางดังกล่าวจึงเป็นทางภาระจำยอม ต่อมาจำเลยได้รื้อเสารั้วแนวเขตเดิมแล้วนำมาปักไว้ในทางพิพาท ทำให้ทางพิพาท แคบลงเป็นเหตุให้โจทก์ใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกที่ดินของโจทก์ไม่ได้ตามปกติ ขอให้จำเลยรื้อถอนเสารั้วออกไป แม้โจทก์ระบุในคำฟ้องผิดพลาดว่า เป็นทางภาระจำยอมก็ไม่ใช่สาระสำคัญถึงขนาดที่จะทำให้คำฟ้องเสียไป ส่วนทางพิพาทที่ถูกต้องจะเป็นทางอะไรนั้น เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องปรับข้อเท็จจริงเข้ากับตัวบทกฎหมายเองเมื่อทางพิจารณาได้ความว่าเป็นทางสาธารณะ ศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเปิดทางภาระจำยอมโดยถอนเสารั้วทุกต้นที่ล้ำเข้ามาในทางภาระจำยอมออกไปโดยให้ทางภาระจำยอมมีความกว้าง 2.50 เมตร ตลอดแนว หากจำเลยไม่รื้อถอน ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยและให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนได้โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า โจทก์สามารถใช้สิทธิขอเปิดทางจำเป็นจากที่ดินแปลงอื่นที่เหมาะสมกว่าที่ดินของจำเลยและเป็นที่ดินแปลงที่เคยแบ่งแยกปันกันนั้นได้ โจทก์ไม่มีอำนาจมาอ้างเอาที่ดินของจำเลยเป็นทางภาระจำยอม
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า ทางพิพาทบริเวณเส้นสีดำ ที่โจทก์นำชี้เนื้อที่ 24 1/10 ตารางวา ตามรูปแผนที่เอกสารหมาย ล.5 เป็นทางสาธารณะ ให้จำเลยรื้อถอนเสารั้วออกไปจากทางสาธารณะดังกล่าว คำขออื่นให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม แต่ทางพิจารณาได้ความว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ ดังนี้ศาลจะวินิจฉัยว่าเป็น ทางสาธารณะได้หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินของโจทก์และจำเลยอยู่ติดกันตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง โดยโจทก์ใช้ทางพิพาทซึ่งมีความกว้าง 2.50 เมตร เข้าออกที่ดินของโจทก์มานานกว่า 10 ปี ไม่มีบุคคลใดคัดค้าน ต่อมาจำเลยได้รื้อเสารั้วแนวเขตเดิมแล้วนำมาปักไว้ในทางพิพาท ทำให้ทางพิพาทแคบลงเหลือความกว้างเพียง 1.10 เมตร เป็นเหตุให้โจทก์ใช้รถยนต์ผ่านทางพิพาทเข้าออกที่ดินของโจทก์ไม่ได้ตามปกติ ขอให้จำเลยรื้อถอนเสารั้วออกไป จากคำบรรยายฟ้องดังกล่าวเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงสิทธิในการใช้ทางพิพาทโดยปราศจากการขัดขวางมานานกว่า 10 ปี แล้ว เมื่อจำเลยนำเสารั้วมาปักลงในทางพิพาทขัดขวางทางเข้าออกของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยรื้อเสารั้วออกไปจากทางพิพาทได้ แม้โจทก์จะระบุในคำฟ้องผิดพลาดว่า เป็นทางภาระจำยอมก็ไม่ใช่สาระสำคัญถึงขนาดที่จะทำให้คำฟ้องเสียไป เพราะคำฟ้องเพียงแต่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็น หลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นก็ใช้ได้แล้ว ส่วนทางพิพาทที่ถูกต้องจะเป็นทางอะไรนั้น เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องปรับ ข้อเท็จจริงเข้ากับตัวบทกฎหมายเอง ดังนั้นแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม แต่ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นทางสาธารณะ ศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะได้ หานอกฟ้องนอกประเด็นไม่
มีปัญหาต่อไปว่า จำเลยต้องรื้อเสารั้วออกไปจากทางพิพาทตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ เห็นว่า นายบุญเหลือ พลดงนอก นายช่างรัดวัด 5 สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขาบ้านไผ่ ซึ่งเป็นพยานคนกลางเบิกความว่า ทางพิพาทตามแผนที่เอกสารหมาย ล.5 เป็นทางสาธารณะ ส่วนโจทก์และนายเรียง สละ เบิกความยืนยันว่า ทางพิพาทเดิมมีเสาไม้ 2 ถึง 3 ต้น ปักไว้เป็นแนวเขตตามเครื่องหมายดอกจันที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย จ.2 ภาพที่ 1 และแนวเขตเดิมนี้มีมานานกว่า 15 ปี จำเลยเพิ่งย้ายเสาไม้จากแนวเขตเดิมรุกล้ำเข้ามาในทางพิพาทตามภาพถ่ายหมาย จ.3 ทำให้ทางพิพาทแคบลง ซึ่งจำเลยก็เบิกความยอมรับว่า บริเวณคันนาที่มีเครื่องหมายดอกจันด้านซ้ายตามภาพถ่ายหมาย จ.2 ภาพที่ 1 คือ แนวเขตทางพิพาทเดิม จำเลยเพิ่งปักเสาไม้เป็นแนวเขตใหม่เข้าไปในทางพิพาทตามภาพถ่ายหมาย จ.3 เมื่อปี 2539 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่าจำเลยปักเสาไม้รุกล้ำเข้าไปในทางพิพาทจริง แต่เนื่องจากนายบุญเหลือเบิกความว่า ทางพิพาทด้านที่อยู่ติดกับทางสาธารณประโยชน์มีความกว้าง 1.548 เมตร ตามที่โจทก์นำชี้ และด้านที่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์มีความกว้าง 2.513 เมตร ตามแผนที่พิพาท จำเลยจึงต้องรื้อถอน เสารั้วออกไปโดยให้ทางพิพาทมีขนาดความกว้างดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามาจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน