คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องและจำเลยฟ้องแย้งเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระเงินแก่ตน ครั้นถึงวันนัดสืบพยาน คู่ความยอมตกลงกันตามที่ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ย ศาลแรงงานกลางจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความและได้มีคำพิพากษาตามยอม ในวันนั้นตามข้อ 2 แห่งสัญญาประนีประนอมยอมความได้ระบุไว้ว่า โจทก์จำเลยต่างไม่ติดใจเรียกร้องอื่นใดกันอีก ซึ่งหมายความว่า จำเลยได้สละข้อเรียกร้องของตนตามฟ้องแย้งแล้ว ถือว่าข้อเรียกร้องตามฟ้องแย้งของจำเลยได้ระงับสิ้นไปด้วยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 และคำพิพากษาตามยอมของศาลแรงงานกลาง ได้พิพากษารวมถึงข้อเรียกร้องตามฟ้องแย้งของจำเลยด้วยแล้ว ศาลแรงงานกลางจึงไม่จำต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยอีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยฟ้องเรียกเงินค่าประกันการเข้าทำงาน เงินสะสม เงินค่านายหน้าจากการขายสินค้าและเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากจำเลย จำเลยให้การต่อสู้ว่า ไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งให้โจทก์ใช้เงินที่โจทก์ฉ้อโกงจำเลยไป ค่าเสียหายอันเกิดจากการที่โจทก์ลาออกจากงานโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และหนี้ที่โจทก์ก่อความผูกพันไว้แก่จำเลย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องแย้ง ก่อนสืบพยานศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยคู่ความตกลงกันได้ จึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ ต่อมาวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ จำเลยยื่นคำร้องว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ มิได้กล่าวถึงเรื่องฟ้องแย้งของจำเลยแต่ประการใด ซึ่งคำฟ้องแย้งของจำเลยก็ถือเสมือนเป็นคำฟ้อง ถ้าศาลมิได้มีคำสั่งในส่วนของฟ้องแย้งแล้ว กระบวนพิจารณาคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา ๓๑ ขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยต่อไปด้วย
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ ๒ระบุว่า โจทก์จำเลยต่างยอมตามข้อ ๑ ไม่ติดใจเรียกร้องอื่นใดกันอีกโดยตามสัญญายอมข้อ ๑ จำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์ ๑๓,๐๒๒.๙๒ บาทถือได้ว่าจำเลยไม่ติดใจเรียกร้องโจทก์ตามฟ้องแย้งแล้ว จึงไม่จำต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยอีก ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนว่าโจทก์และจำเลยต่างฟ้องเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระเงินแก่ตนครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อน ศาลแรงงานกลางได้ไกล่เกลี่ยให้คู่ความปรองดองกัน คู่ความยอมตกลงกันตามที่ศาลไกล่เกลี่ยโดยขอให้ศาลทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ศาลแรงงานกลางจึงจัดการให้ตามที่คู่ความประสงค์ดังปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒และศาลแรงงานกลางได้จัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้คู่ความลงชื่อต่อหน้าศาลในวันนั้นมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าโจทก์และจำเลยขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลมีข้อความตามที่จะกล่าวต่อไปนี้
ข้อ ๑. จำเลยยอมชำระเงินจำนวน ๑๓,๐๒๒.๙๒ บาท แก่โจทก์ โดยจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๒ หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที
ข้อ ๒. โจทก์จำเลยต่างยอมตามข้อ ๑ ไม่ติดใจเรียกร้องอื่นใดกันอีก”
เมื่อคู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้วศาลแรงงานกลางก็ได้มีคำพิพากษาตามยอมในวันนั้น พิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อ ๒ แห่งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวข้างต้น ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า โจทก์จำเลยต่างไม่ติดใจเรียกร้องอื่นใดกันอีก ซึ่งหมายความอยู่ในตัวว่า จำเลยได้สละข้อเรียกร้องของตนตามฟ้องแย้งแล้ว ต้องถือว่าข้อเรียกร้องตามฟ้องแย้งของจำเลยได้ระงับสิ้นไปตามผลของสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๒ และคำพิพากษาตามยอมของศาลแรงงานกลาง ซึ่งพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เป็นการพิพากษารวมถึงข้อเรียกร้องตามฟ้องแย้งของจำเลยด้วยแล้ว จึงหาจำต้องมีคำสั่งหรือพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยอีกไม่
พิพากษายืน.

Share