คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1266/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ไม่นำเงินค่าที่ดินไปสำนักงานที่ดินเพื่อชำระให้จำเลย ทั้ง ๆ ที่จำเลยพร้อมที่จะโอนที่ดินให้โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ผิดสัญญาจะซื้อจะขาย แม้ต่อมาโจทก์จะนัดให้จำเลยไปรับเงินและโอนที่ดินใหม่ ก็เป็นกรณีโจทก์ขอปฏิบัติตามสัญญาภายหลังโจทก์ผิดสัญญาแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ไปรับเงินและโอนที่ดินให้โจทก์ได้
ฎีกาในปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์ฎีกาว่าจำเลยผิดสัญญาโดยอ้างเหตุนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้องจึงเป็นฎีกาที่นอกฟ้องนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาจะซื้อจะขายแต่เพียงฝ่ายเดียว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินแก่โจทก์ แล้วจำเลยไม่ยอมไปโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า ในวันนัดโอนที่ดินตัวแทนของจำเลยไปสำนักงานที่ดิน เพื่อโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา แต่โจทก์ไม่มีเงินมาชำระค่าที่ดินที่ยังค้างอยู่ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่ได้เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๒ โจทก์ไม่นำเงิน ๒,๖๕๐,๐๐๐ บาท ไปที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เพื่อชำระค่าที่ดินที่เหลือให้จำเลย ทั้งที่จำเลยพร้อมที่จะโอนที่ดินให้โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ที่โจทก์นัดให้จำเลยไปรับเงินและโอนที่ดินให้โจทก์ในวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๒ โดยอ้างว่าโจทก์ได้เตรียมแคชเชียร์เช็คไว้แล้ว เป็นกรณีโจทก์ขอปฏิบัติตามสัญญาภายหลังโจทก์ผิดสัญญาแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ไปรับเงินและโอนที่ดินให้โจทก์ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครได้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า นางฉวีวรรณผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๗๒ และโฉนดเลขที่ ๔๗๓ มิได้มอบอำนาจให้นายทองล้วน (ตัวแทนโจทก์) มิได้มอบหนังสือให้ความยินยอมของสามี บัตรประจำตัวประชาชน ตลอดทั้งสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่นายทองล้วน เมื่อที่ดินตามโฉนดข้างต้นโอนไม่ได้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เห็นว่าเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย และที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยถูกกรมสรรพากรยึดที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๔๗๖ และโฉนดเลขที่ ๙๗๔๓ ก่อนแล้ว จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะจะโอนที่ดินให้โจทก์ได้ กรณีต้องตาม มาตรา ๒๐๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงมิใช่ผู้ผิดนัด และที่ฎีกาว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๔๒๓ จำเลยไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยย่อมโอนให้โจทก์ไม่ได้และตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาด้วยนั้น เห็นว่าทั้ง ๒ กรณีนี้ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์มิได้อ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นเหตุว่าจำเลยผิดสัญญา การที่โจทก์ยกเหตุนี้ขึ้นฎีกาว่าจำเลยผิดสัญญาจึงเป็นฎีกาที่นอกฟ้องนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายที่ไม่พร้อมที่จะทำการโอน ศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.๓๓ ข้อ ๓ วรรคสองแต่ฝ่ายเดียวสัญญาดังกล่าวได้ระงับไปตามข้อ ๕ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.๓๓ ข้อ ๓ วรรคสองและวรรคสาม และไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share