คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในระดับที่ใช้กฎหมายขณะกระทำความผิดก็ได้ หรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดก็ได้ เช่นนี้ควรปรับบทลงโทษจำเลยตามกฎหมายในขณะกระทำความผิด(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1292/2500)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยมิได้รับอนุญาต และได้ร่วมกันให้ ขอให้ และรับว่าจะให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่เพื่อจูงใจมิให้จับกุมจำเลยทั้งสี่กับพวกในข้อหาว่ากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติป่าไม้

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ แต่ที่โจทก์ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 7, 9 นั้น เนื่องจากต่อมาได้มีพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 3, 4 ได้แก้ไขโทษขั้นต่ำ จึงถือว่าเป็นคุณแก่จำเลย ต้องบังคับตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองจำคุกคนละ 3 ปี ฐานให้สินบนเจ้าพนักงาน ให้จำคุก 2 ปี รวมจำคุกคนละ 5 ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 ลงโทษจำคุก 3 ปี ยกฟ้องข้อหาให้สินบนเจ้าพนักงานและให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 ด้วย

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงานด้วย และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ขณะที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้อยู่ในระหว่างที่ใช้บังคับตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2522 มาตรา 7, 9 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 15 ปี ต่อมามีพระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 3, 4 แก้ไขกำหนดโทษเป็นจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี ศาลลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปีเป็นการวางโทษในระดับที่ใช้กฎหมายขณะกระทำความผิดก็ได้ หรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดก็ได้เช่นนี้ควรปรับบทลงโทษจำเลยตามกฎหมายในขณะกระทำความผิด ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1292/2500ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี โจทก์ นางไทย แสงเงิน จำเลยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะจำเลยกระทำความผิดนั้น ชอบแล้วฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดนั้นฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 อีกกระทงหนึ่งด้วย สำหรับกำหนดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share