คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1264/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ห้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนไปประมูลและทำการก่อสร้างอาคาร เมื่อจำเลยที่ 3 ว่าจ้างโจทก์ติดตั้งกระจกและบานประตูจนโจทก์ทำให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ห้างจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 และจำเลยที่ 2ต้องรับผิดร่วมด้วยตามมาตรา 1077(2) ประกอบด้วยมาตรา1087
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจหมายจ.3 เป็นเรื่องที่ห้างจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3ยืมชื่อไปใช้ประมูลและทำการก่อสร้างอาคารโดยจำเลยที่ 3เข้าทำการก่อสร้างเอง จึงเป็นนิติกรรมอำพรางนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ได้ล่วงรู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวอันเป็นการไม่สุจริต แต่อย่างใด ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ดังกล่าวจึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและต้องได้รับความเสียหายไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา118 วรรคแรก
ปรากฏตามคำฟ้องและทางพิจารณาว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทน ของจำเลยที่ 1 และได้กระทำแทนจำเลยที่ 1 ภายในขอบอำนาจแห่งฐานเป็นตัวแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 3 ให้ชำระหนี้ตามฟ้องได้ แต่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดโดยกำหนดจำนวนหนี้แตกต่างกัน จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 3 จะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาทั้งไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาคดีให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา142(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ไปรับเหมาก่อสร้างอาคารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูนในการก่อสร้างจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ติดบานอะลูมิเนียม ติดกระจกและสั่งซื้อกระจกหลายรายการและหลายคราวโดยจำเลยที่ 3 ทำไปภายในขอบอำนาจ โจทก์ได้จัดการตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 เรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระราคา ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 94,994 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ขาดคุณสมบัติในการยื่นซองประกวดราคา จึงอาศัยชื่อจำเลยที่ 1 ประมูลเอางานนี้มาแล้วจำเลยที่ 3เป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เคยเกี่ยวข้องด้วย ประมูลได้แล้วจำเลยที่ 3 ทำสัญญาจ้างเองตามลำพัง หนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 1ทำให้จำเลยที่ 3 นั้นเป็นการทำอำพรางเพื่อให้จำเลยที่ 3 เอาชื่อจำเลยที่ 1ไปยื่นซองประกวดราคาเท่านั้น หนี้ตามฟ้องไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 2 โจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 3 ไปแล้ว 38,200 บาท ส่วนที่ค้างอีก 56,794บาท จำเลยที่ 3 ก็ได้ออกเช็คให้โจทก์ไว้แล้ว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์94,994 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว 38,200 บาท พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดใช้เงิน 56,794 บาทแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจหมาย จ.3เป็นเรื่องห้างจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ยืมชื่อไปใช้ประมูลและทำการก่อสร้างอาคารโดยจำเลยที่ 3 เข้าทำการก่อสร้างเอง จึงเป็นนิติกรรมอำพราง จำเลยที่ 1ที่ 2 ไม่ต้องรับผิด ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ได้ล่วงรู้ถึงการที่ห้างจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ยืมชื่อไปเสนอราคาก่อสร้างและรับจ้างก่อสร้างอาคารหลังนี้อันเป็นการไม่สุจริตแต่อย่างใด ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ดังกล่าวจึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและต้องได้รับความเสียหายหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก คดีจึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของห้างจำเลยที่ 1 ในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 3 ว่าจ้างโจทก์ติดตั้งกระจกและประตูอะลูมิเนียมจนโจทก์ทำให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ห้างจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมด้วยตามมาตรา 1077(2) ประกอบด้วยมาตรา 1087

ปรากฏตามคำฟ้องและทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และได้กระทำแทนจำเลยที่ 1 ภายในขอบอำนาจแห่งฐานเป็นตัวแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามฟ้องได้แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยกำหนดจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องชำระแตกต่างกัน กรณีจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 3 จะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาทั้งไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาคดีให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share