คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12635/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 บัญญัติเรื่องการขอให้พิจารณาใหม่ไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ได้
วันที่ 11 มิถุนายน 2555 เป็นวันที่ศาลแรงงานกลางนัดพิจารณาและกำหนดประเด็นข้อพิพาท เมื่อไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความตกลงกันไม่ได้ศาลแรงงานกลางจึงนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 5 กันยายน 2555 วันที่ 5 กันยายน 2555 จึงเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ไม่ใช่วันนัดพิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบแล้วพิพากษายกฟ้องไปตามพยานหลักฐานและประเด็นในคดี ไม่ใช่การพิจารณาโดยขาดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา และล่วงเวลาในวันหยุด 3,400 บาท และ 19,200 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่อ้างว่ามีความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลในวันนัดสืบพยานได้และคดีโจทก์มีเหตุเพียงพอที่จะชนะคดี
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่าโจทก์มีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ คดีนี้ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาและกำหนดประเด็นข้อพิพาท ศาลแรงงานกลางได้ไกล่เกลี่ยแล้ว คู่ความไม่สามารถตกลงกันได้ จึงกำหนดให้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันเดียวกันคือวันที่ 5 กันยายน 2555 โดยกำหนดให้จำเลยนำพยานเข้าสืบก่อน วันที่ 30 สิงหาคม 2555 โจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าโจทก์เพิ่งได้รับคำสั่งจากนายจ้างให้เดินทางไปศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 3 ถึง 6 กันยายน 2555 จึงไม่อาจมาศาลในวันที่ 5 กันยายน 2555 ได้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในคำร้องว่า “ให้โจทก์แสดงหลักฐานรวมทั้งหมายเลขคดีที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีและความจำเป็นอื่น ๆ ที่ไม่อาจมาศาลได้ภายในวันนัดโดยศาลจะมีคำสั่งเรื่องการขอเลื่อนการพิจารณาในวันสืบพยาน” เมื่อถึงวันที่ 5 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยในช่วงเช้าโจทก์ไม่มาศาล จำเลยแถลงคัดค้านว่าได้เตรียมพยานมาศาลแล้วไม่สมควรอนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดี ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดี จำเลยนำพยานเข้าสืบ 1 ปาก และศาลแรงงานกลางสั่งให้นัดสืบพยานโจทก์ในช่วงบ่ายตามที่นัดไว้เดิม เมื่อถึงเวลานัดโจทก์ไม่มา ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ แล้วศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาในวันดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่นำพยานเข้าสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบและพิพากษายกฟ้อง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 บัญญัติเรื่องการขอให้พิจารณาใหม่ไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ได้ ศาลแรงงานกลางนัดพิจารณาและกำหนดประเด็นข้อพิพาทในวันที่ 11 มิถุนายน 2555 เมื่อไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความตกลงกันไม่ได้จึงนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 5 กันยายน 2555 วันที่ 5 กันยายน 2555 จึงเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ไม่ใช่วันนัดพิจารณาตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ แล้วพิพากษายกฟ้องไปตามพยานหลักฐานและประเด็นในคดี ไม่ใช่การพิจารณาโดยขาดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share