แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งได้ การนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น หมายถึงการนำสืบพยานบุคคลถึงข้อความอื่นให้แตกต่างไปจากข้อความที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนั้น แต่ที่โจทก์ทั้งสามนำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสารหมาย จ.11 นั้น เป็นการนำสืบถึงความมีอยู่จริงของข้อความที่ปรากฏอยู่แล้วในเอกสาร มิใช่นำสืบข้อความอื่นที่แตกต่างไปจากข้อความในเอกสารจึงมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. บุตรจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความทั้งหมดลงในเอกสารหมาย จ.11 แม้ข้อความตามหมายเหตุในเอกสารดังกล่าวจะมิได้มีอยู่ในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามโต้แย้งว่าไม่ตรงกับความจริงเพราะเงิน 130,000 บาท มิใช่เงินตอบแทนจดทะเบียนภาระจำยอม แต่เป็นเงินที่จำเลยต้องดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ จำเลยก็ให้ ส. เขียนข้อความหมายเหตุไว้ว่าจำเลยจะยกทางให้เป็นทางสาธารณะภายใน 1 ปี จึงถือว่าข้อความตามหมายเหตุนั้นมีอยู่ในขณะที่จำเลยจัดทำเอกสารหมาย จ.11 ก่อนที่จำเลยจะส่งมอบให้โจทก์ทั้งสามเก็บรักษาไว้ กรณีจึงมิใช่การเพิ่มเติมข้อความในภายหลังที่จำเลยจะต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย จำเลยจึงมีความผูกพันต่อโจทก์ทั้งสามที่จะต้องจดทะเบียนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะตามข้อความในหมายเหตุเอกสารหมาย จ.11
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 47684 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้เป็นทางสาธารณะโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง หากไม่ไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 47684 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 24 ตารางวา ให้เป็นทางสาธารณะโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้โจทก์ทั้งสามเสียค่าใช้จ่ายแล้วให้บังคับเอาจากจำเลยจนครบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องจดทะเบียนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะตามข้อความในหมายเหตุเอกสารหมาย จ.11 หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามนำพยานบุคคลมาสืบประกอบพยานเอกสารหมาย จ.11 เป็นการเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) นั้น เห็นว่า การยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งได้ซึ่งการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น หมายถึงการนำสืบพยานบุคคลถึงข้อความอื่นให้แตกต่างไปจากข้อความที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนั้น แต่ที่โจทก์ทั้งสามนำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสารหมาย จ.11 นั้น เป็นการนำสืบถึงความมีอยู่จริงของข้อความที่ปรากฏอยู่แล้วในเอกสาร มิใช่นำสืบข้อความอื่นที่แตกต่างไปจากข้อความในเอกสารจึงมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ข้อความในหมายเหตุดังกล่าวไม่ได้มีอยู่ในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อนั้น จำเลยนำสืบว่า จำเลยรับเงินค่าตอบแทนภาระจำยอม 130,000 บาท ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 ในตอนเย็นหลังจากกลับจากจดทะเบียนภาระจำยอมแล้ว มีการจัดทำเอกสารหมาย จ.11 ขณะจำเลยลงลายมือชื่อไม่มีข้อความหมายเหตุใต้ลายมือชื่อว่าจำเลยจะยกทางให้เป็นทางสาธารณะ ส่วนโจทก์ทั้งสามนำสืบโดยมีนายเทียน สามีโจทก์ที่ 2 เบิกความว่าเอกสารหมาย จ.11 จำเลยมอบหมายให้นางสาวสุรัตน์บุตรสาวจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความ แต่โจทก์ทั้งสามโต้แย้งว่าไม่ตรงกับความจริงเพราะเงิน 130,000 บาท มิใช่เงินตอบแทนจดทะเบียนภาระจำยอม แต่เป็นเงินให้จำเลยดำเนินการโอนที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ นางคำจึงบอกให้ทำหนังสือใหม่ จำเลยบอกไม่ต้องทำใหม่แต่ให้เขียนหมายเหตุไว้แทนว่าถ้าโอนเป็นทางสาธารณะจำเลยจะยอมรับผิดชอบทั้งหมดโดยขอระยะเวลา 1 ปี จากนั้น นางสาวสุรัตน์ได้ขอพูดในฐานะหลานให้สงสารจำเลยเพราะมีบ้านปลูกคร่อมทางสาธารณะอยู่ในที่ดินพิพาทซึ่งจะต้องรื้อถอนไปจึงขอเวลา 1 ปี หลังจากเขียนและอ่านข้อความในหมายเหตุให้ฟังแล้ว ทั้งสองฝ่ายพอใจ โดยจำเลยไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่าผู้เขียนหนังสือนั้นมิใช่นางสาวสุรัตน์บุตรจำเลยและผู้ใดเป็นผู้เขียน จำเลยอ้างตนเองเบิกความเพียงปากเดียวกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่านางสาวสุรัตน์บุตรจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความทั้งหมดลงในเอกสารหมาย จ.11 และแม้ข้อความตามหมายเหตุในเอกสารดังกล่าวจะมิได้มีอยู่ในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามโต้แย้งว่าไม่ตรงกับความจริงเพราะเงิน 130,000 บาท มิใช่เงินตอบแทนจดทะเบียนภาระจำยอม แต่เป็นเงินที่จำเลยต้องดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ จำเลยก็ให้นางสาวสุรัตน์เขียนข้อความหมายเหตุไว้ว่าจำเลยจะยกทางให้เป็นทางสาธารณะภายใน 1 ปี จึงถือว่าข้อความตามหมายเหตุนั้น มีอยู่ในขณะที่จำเลยจัดทำเอกสารหมาย จ.11 ก่อนที่จำเลยจะส่งมอบให้โจทก์ทั้งสามเก็บรักษาไว้ กรณีจึงมิใช่การเพิ่มเติมข้อความในภายหลังที่จำเลยจะต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย จำเลยจึงมีความผูกพันต่อโจทก์ทั้งสามที่จะต้องจดทะเบียนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะตามข้อความในหมายเหตุเอกสารหมาย จ.11 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
อนึ่ง ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท เกินอัตราตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน กำหนดค่าทนายความในศาลชั้นต้นให้ 3,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ