คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1262/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสี่ปล้นบ้านเจ้าทรัพย์ โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขึ้นไปปล้นบนบ้านส่วนจำเลยที่ 1 คอยเฝ้าระวังเหตุการณ์อยู่ริมรั้วขณะจำเลยกำลังทำการปล้นอยู่บนบ้านส่วนจำเลยที่ 1 ใช้ปืนยิงพวกเจ้าทรัพย์คนหนึ่งถึงแก่ความตาย ดังนี้ จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 340 วรรคท้าย จำเลยนอกนั้นไม่รู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตาย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ทำนองนั้น มิได้บัญญัติห้ามมิให้ศาลปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องลงโทษจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีอาวุธปืนและมีด ทำการปล้นทรัพย์ของเจ้าทรัพย์โดยขู่เข็ญ เจ้าทรัพย์และใช้ปืนยิงนายดี อินต๊ะแสน พวกเจ้าทรัพย์ถึงแก่ความตายโดยเจตนาฆ่า เพื่อความสะดวกในการปล้นทรัพย์ หรือพาทรัพย์ไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 288, 289, 83 และขอให้สั่งคืนปืนแก๊ปแก่เจ้าทรัพย์ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์650 บาทแก่เจ้าทรัพย์

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 288, 289, 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 340 ซึ่งเป็นบทหนักให้จำคุกจำเลยทั้งสี่คนไว้ตลอดชีวิต จำเลยทุกคนให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้างลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78, 53 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 16 ปีคืนปืนของกลางแก่เจ้าทรัพย์ ให้จำเลยช่วยกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 650 บาท แก่เจ้าทรัพย์

จำเลยทั้งสี่คนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยทั้งสี่คนกระทำผิดตามฟ้อง แต่ที่ศาลชั้นต้นให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ซึ่งเป็นบทหนักนั้น ยังคลาดเคลื่อนอยู่ ชอบที่จะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ไม่อาจแก้ไขได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสี่คนฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า คืนเกิดเหตุจำเลยทั้งสี่คนเข้าไปปล้นบ้านเจ้าทรัพย์ โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขึ้นไปบนบ้านเจ้าทรัพย์ จำเลยที่ 3 เอามีดจ่อคอและจับคอเสื้อนางยู่ภรรยาเจ้าทรัพย์ จำเลยที่ 2 เอาปืนลูกซองสั้นจ่อหลังนายหมวกเจ้าทรัพย์ จำเลยที่ 3 ล้วงเงินในกระเป๋าเสื้อนางยู่ไป 40 บาทเอาเงินที่ซุกไว้ใต้เสื่อลำแพนไปอีก 260 บาท แล้วหยิบปืนแก๊ปยาวของเจ้าทรัพย์ส่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่บนพื้นดิน จำเลยที่ 1 ซึ่งคอยเฝ้าระวังเหตุการณ์อยู่ริมรั้วใช้ปืนยิงนายดีพวกเจ้าทรัพย์ 2 นัดเป็นเหตุให้นายดีถึงแก่ความตาย แล้วจำเลยที่ 1 ก็เรียกจำเลยอื่นที่อยู่บนเรือนให้กลับ จำเลยทุกคนพากันกลับไป โดยจำเลยที่ 4 หยิบวิทยุบนเรือนไปด้วย จึงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ผู้เดียวเป็นผู้ยิงนายดี เพื่อความสะดวกในการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ จึงควรมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 340 วรรคท้ายเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่รู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ยิงนายดี จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขึ้นมาศาลอุทธรณ์ก็ไม่อาจแก้ไขได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เพราะมาตรา 212 ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ทำนองนั้น มิได้ห้ามมิให้ศาลปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องลงโทษจำเลย

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 340 วรรคท้าย ให้ลงโทษตามมาตรา 289 ซึ่งเป็นบทกฎหมายซึ่งมีโทษหนักที่สุดให้วางโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78, 52ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 16 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย วางโทษจำคุกจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 ไว้ตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 รับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78, 53 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไว้คนละ 16 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share