คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ป่วยเป็นโรคไตอักเสบและโจทก์ได้ลาป่วยหลายครั้งเหตุที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์เนื่องจากมีปัญหาจากความเจ็บป่วยและสุขภาพของโจทก์ จำเลยชอบที่จะย้ายโจทก์ไปทำงานตามความเหมาะสมได้ การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์เนื่องจากเหตุดังกล่าว คำสั่งของจำเลยจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหากโจทก์เห็นว่างานประชาสัมพันธ์ประจำสำนักงานใหญ่ไม่เหมาะกับโจทก์และงานใหม่ดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับค่าจ้างลดลงจากเดิม อันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงานโจทก์ก็ชอบที่จะตกลงกับจำเลยเพื่อขอเปลี่ยนงานใหม่ หรือดำเนินการฟ้องเพิกถอนคำสั่งย้ายดังกล่าวในภายหลังต่อไป ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ แต่โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์จึงไม่ไปปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ตามคำสั่งโจทก์มีความประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไปโดยติดต่อกับ ป.เรื่องตำแหน่งงานใหม่ภายหลังรายงานตัวกลับเข้าทำงาน จำเลยยังไม่จัดหาตำแหน่งงานใดๆให้โจทก์ต่อมาโจทก์หายป่วยได้กลับมารายงานตัวเข้าปฏิบัติงานต่อจำเลยแต่จำเลยไม่ได้จัดหาตำแหน่งงานหรือมอบงานใด ๆ ให้โจทก์ ทำให้โจทก์ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์นั้น ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าระหว่างโจทก์ลาป่วย จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานประจำที่สำนักงานใหญ่โจทก์ทราบคำสั่งดังกล่าวแต่โจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานที่สำนักงานใหญ่เนื่องจากรายได้ของโจทก์ลดลงจากเดิมโจทก์ติดต่อกับป.เกี่ยวกับตำแหน่งงานใหม่ของโจทก์ที่จะทำหลังจากที่โจทก์ได้รายงานตัวกลับเข้าทำงานแล้ว การที่โจทก์ไม่ไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ของจำเลย จึงเป็นความสมัครใจของโจทก์ จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ดังนี้อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2535 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่พนักงานรักษาความปลอดภัย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,350 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 9 และ 24 ของเดือน ระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน 2540 ถึง 24 สิงหาคม 2540 โจทก์เป็นโรคไตอักเสบจึงลาป่วยและได้รับอนุญาตจากจำเลยแล้วต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2540 โจทก์ไปรายงานตัวกลับเข้าทำงานแต่จำเลยไม่ให้โจทก์เข้าทำงานอ้างว่าไม่มีตำแหน่งว่างให้รอไปก่อนและไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามกำหนด พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 62,100 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 10,350 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ป่วยเป็นโรคไตอักเสบ จำเลยได้อนุญาตให้โจทก์ลาหยุดงานเพื่อรักษาตัวครั้งแรกระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 ถึง 30 พฤษภาคม 2540 ครั้งที่สองระหว่างวันที่20 มิถุนายน 2540 ถึง 19 กรกฎาคม 2540 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2540 โจทก์ได้ติดต่อกับนาง เปรมจิตร จิตต์อุไร เพื่อขอกลับเข้าทำงาน ณ ที่หน่วยงานองค์การสหประชาชาติ เช่นเดิม จำเลยพิจารณาเห็นว่าสุขภาพของโจทก์ยังไม่แข็งแรง จึงมีคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานประจำที่สำนักงานของจำเลยในวันที่ 1 สิงหาคม 2540 และให้โจทก์นำใบรับรองของแพทย์มาแสดงยืนยันต่อจำเลยว่าโจทก์มีสุขภาพแข็งแรงพร้อมที่จะทำงานได้แล้ว โจทก์ไม่กลับเข้าทำงานตามคำสั่งของจำเลย จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์โจทก์ละทิ้งหน้าที่เนื่องจากไม่ประสงค์จะทำงานที่สำนักงานของจำเลยเพราะมีรายได้น้อยกว่าเดิม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เหตุที่โจทก์ไม่ไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยเป็นความสมัครใจของโจทก์จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่าคำสั่งของจำเลยทีย้ายโจทก์จากงานรักษาความปลอดภัยประจำองค์การสหประชาชาติไปทำงานประชาสัมพันธ์ประจำสำนักงานใหญ่ เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์จากงานรักษาความปลอดภัยประจำองค์การสหประชาชาติไปทำงานประชาสัมพันธ์ประจำสำนักงานใหญ่เนื่องจากโจทก์ป่วยเป็นโรคไตอักเสบและโจทก์ได้ลาป่วยหลายครั้ง เห็นว่าเหตุที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์เนื่องจากมีปัญหาจากความเจ็บป่วยและสุขภาพของโจทก์นั่นเอง จำเลยชอบที่จะย้ายโจทก์ไปทำงานตามความเหมาะสมได้ หากโจทก์เห็นว่างานประชาสัมพันธ์ประจำสำนักงานใหญ่ไม่เหมาะกับโจทก์ทั้งงานใหม่ดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับค่าจ้างลดลงจากเดิมอันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ชอบที่จะตกลงกับจำเลยเพื่อขอเปลี่ยนงานใหม่ หรือดำเนินการฟ้องเพิกถอนคำสั่งย้ายดังกล่าวในภายหลังการที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์เนื่องจากเหตุดังกล่าว คำสั่งของจำเลยจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ประการต่อมาว่า เมื่อจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ แต่โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่ไปปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ตามคำสั่ง โจทก์มีความประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไปโดยติดต่อกับนางเปรมจิตรเรื่องตำแหน่งงานใหม่ภายหลังรายงานตัวกลับเข้าทำงาน จำเลยยังไม่จัดหาตำแหน่งงานใด ๆ ให้โจทก์ ต่อมาโจทก์หายป่วยได้กลับมารายงานตัวเข้าปฏิบัติงานต่อจำเลย แต่จำเลยไม่ได้จัดหาตำแหน่งงานหรือมอบงานใด ๆ ให้โจทก์ทำให้โจทก์ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าระหว่างโจทก์ลาป่วยจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานประจำที่สำนักงานใหญ่ โจทก์ทราบคำสั่งดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานที่สำนักงานใหญ่เนื่องจากรายได้ของโจทก์ลดลงจากเดิมโจทก์ติดต่อกับนางเปรมจิตรเกี่ยวกับตำแหน่งงานใหม่ของโจทก์ที่จะทำหลังจากที่โจทก์ได้รายงานตัวกลับเข้าทำงานแล้วการที่โจทก์ไม่ไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยจึงเป็นความสมัครใจของโจทก์จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share