คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1257/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9,11 ที่แก้ไขแล้วบัญญัติว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ถือว่าขาดคุณสมบัติและเป็นอันพ้นจากตำแหน่งนั้น เป็น การ กำหนดคุณสมบัติโดยทั่ว ๆ ไปของพนักงานและเป็น บทบัญญัติให้รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันเท่านั้นส่วนจะเป็นการเลิกจ้างหรือ ไม่ต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ซึ่งได้ให้ความหมายของคำว่าการเลิกจ้างไว้ว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงานโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 อันหมายถึงการที่ให้นายจ้าง ให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใด ๆ โดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดที่ระบุไว้ ดังนั้น การที่จำเลยให้โจทก์ทุกคนพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเพราะเกษียณอายุ จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ดังกล่าว

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สิบสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษากับคดีอื่นอีก 2 สำนวน ซึ่งโจทก์ทั้งสองสำนวนดังกล่าวได้ถอนฟ้องในระหว่างพิจารณา โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 13 และโจทก์ที่ 16 ถึงโจทก์ที่ 42 โจทก์ทั้งสี่สิบสำนวนฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างทำงานที่โรงงานยาสูบกระทรวงการค้า โจทก์ทุกคนทำงานติดต่อกันมาเกินกว่า 3 ปี โจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 5 โจทก์ที่ 7 โจทก์ที่ 8 โจทก์ที่ 10โจทก์ที่ 12 โจทก์ที่ 19 โจทก์ที่ 21 โจทก์ที่ 26 โจทก์ที่ 28โจทก์ที่ 29 โจทก์ที่ 30 โจทก์ที่ 34 โจทก์ที่ 35 โจทก์ที่ 37โจทก์ที่ 39 โจทก์ที่ 40 และโจทก์ที่ 42 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 31,220 บาท 12,570 บาท 11,880 บาท 11,880 บาท 13,290 บาท 22,300 บาท 18,760 บาท 13,290 บาท 11,880 บาท 12,570 บาท 12,570 บาท 13,675 บาท 12,570 บาท 15,760 บาท 14,880 บาท 13,290 บาท 17,700 บาท 22,300 บาท และ 15,760 บาท ตามลำดับ ส่วนโจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 4 โจทก์ที่ 6 โจทก์ที่ 9 โจทก์ที่ 11 โจทก์ที่ 13 โจทก์ที่ 16 โจทก์ที่ 17 โจทก์ที่ 18 โจทก์ที่ 20 โจทก์ที่ 22 โจทก์ที่ 23 โจทก์ที่ 24 โจทก์ที่ 25 โจทก์ที่ 27 โจทก์ที่ 31โจทก์ที่ 32 โจทก์ที่ 33 โจทก์ที่ 36 โจทก์ที่ 38 และโจทก์ที่ 41 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 353.56 บาท 611.04 บาท 485.52 บาท485.52 บาท 485.52 บาท 353.56 บาท 577.92 บาท 611.04 บาท 577.92 บาท 353.56 บาท 611.04 บาท 353.56 บาท 353.56 บาท 515.40 บาท 546.24 บาท 257.01 บาท 331.49 บาท 353.56 บาท 546.24 บาท 331.49 บาท และ 353.56 บาท ตามลำดับ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดเพราะเหตุเกษียณอายุ จำเลยยังไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 187,320บาท 75,420 บาท 63,640.08 บาท 109,987.02 บาท 71,280 บาท 87,393.06 บาท 71,280 บาท 79,740 บาท 87,393.06 บาท 133,800 บาท 87,393.06 บาท 112,560 บาท 63,640.08 บาท 104,025.06 บาท 109,987.02 บาท 104,025.06 บาท 79,740 บาท 63,640.08 บาท 71,280 บาท 109,987.02 บาท 63,640.08 บาท 63,640.08 บาท 92,772 บาท 75,420 บาท 98,323.02 บาท 75,420 บาท 82,050 บาท 75,420 บาท 46,261.08 บาท 59,668.02 บาท 63,640.08 บาท94,560 บาท 89,280 บาท 98,323.02 บาท 79,740 บาท 59,668.02 บาท 106,200 บาท 133,800 บาท 63,640.08 บาท และ 94,560 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 13 และโจทก์ที่ 16 ถึงโจทก์ที่ 42 ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสี่สิบสำนวนให้การว่าที่โจทก์ทุกคนพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะเหตุเกษียณอายุ มิใช่เป็นการถูกเลิกจ้างตามความหมายของกฎหมายแรงงานแต่เป็นการพ้นจากตำแหน่งหน้าที่โดยผลของกฎหมาย เนื่องจากขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 และการที่โจทก์ทุกคนกับจำเลยตกลงทำงานโดยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเกษียณอายุตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจดังกล่าว ถือว่าเป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 13 และโจทก์ที่ 16ถึงโจทก์ที่ 42 เป็นลูกจ้างของจำเลย ทำงานติดต่อกันมาเกินกว่า 3 ปีได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามฟ้อง โจทก์ทุกคนทราบข้อกำหนดเรื่องเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตั้งแต่เริ่มทำงานโดยไม่คัดค้าน จำเลยให้โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 13 และโจทก์ที่ 16ถึงโจทก์ที่ 42 พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะเหตุเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 โดยโจทก์ทุกคนไม่มีความผิด จำเลยยังไม่จ่ายค่าชดเชยและดอกเบี้ย แล้วคู่ความแถลงไม่สืบพยานศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 187,320 บาท75,420 บาท 63,640.08 บาท 109,987.02 บาท 71,280 บาท 87,393.06 บาท 71,280 บาท 79,740 บาท 87,393.06 บาท 133,800 บาท 87,393.06 บาท 112,560 บาท 63,640.08 บาท 104,025.06 บาท 109,987.02 บาท 104,025.06 บาท 79,740 บาท 63,640.08 บาท 71,280 บาท 109,987.02 บาท 63,640.08 บาท 63,640.08 บาท 92,772 บาท 75,420 บาท 98,323.02 บาท75,420 บาท 82,050 บาท 75,420 บาท 46,261.08 บาท 59,668.02 บาท 63,640.08 บาท 94,560 บาท 89,280 บาท 98,323.02 บาท 79,740 บาท 59,668.02 บาท 106,200 บาท 133,800 บาท 63,640.08 บาท และ 94,560 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 13 และโจทก์ที่ 16 ถึงโจทก์ที่ 42 ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 1 ตุลาคม 2533) จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสี่สิบสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าการที่โจทก์ทุกคนต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ เป็นกรณีสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทุกคนกับจำเลยได้สิ้นสุดลงตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ซึ่งโจทก์ทุกคนได้ทราบและยอมรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับข้อกำหนดระยะเวลาการทำงานดังกล่าว จึงเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 วรรคท้ายเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยข้อดังกล่าวได้มีการแก้ไขใหม่โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11)ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 13 ตุลาคม2532 ว่า กรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนั้น นอกจากสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจะเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว ต้องเป็นการจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจะเป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการด้วย คดีนี้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทุกคนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 ซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 มีผลใช้บังคับแล้วผลของการเลิกจ้างจึงต้องบังคับและเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46ซึ่งแก้ไขใหม่โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 แต่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ถึงลักษณะงานว่าเป็นการจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการดังนั้น ปัญหาว่าการจ้างระหว่างโจทก์ทุกคนกับจำเลยเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนหรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
จำเลยอุทธรณ์ข้อที่สองว่า โจทก์ทุกคนพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมายคือ พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 ที่แก้ไขแล้วไม่ใช่การเลิกจ้าง และการที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521มิได้บัญญัติให้การเกษียณอายุรวมอยู่ในคำนิยามของคำวา การเลิกจ้างแสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่ประสงค์ที่จะให้ผู้พ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้างจะได้รับค่าชดเชยอีกนั้น เห็นว่าที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ถือว่าขาดคุณสมบัติและเป็นอันพ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นการกำหนดคุณสมบัติโดยทั่ว ๆ ไปของพนักงานและเป็นบทบัญญัติให้รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันเท่านั้น ส่วนจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ ต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งได้ให้ความหมายของคำว่าการเลิกจ้างไว้ว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 อันหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใด ๆ โดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ ดังนั้น การที่จำเลยดำเนินการให้โจทก์ทุกคนพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 เพราะเกษียณอายุจึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังกล่าวส่วนที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6)ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 มิได้บัญญัติให้การเกษียณอายุรวมอยู่ในความหมายของคำว่าการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5) ก็เนื่องจากเห็นว่าความหมายของคำว่าการเลิกจ้างที่ให้ไว้ครอบคลุมถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุอยู่แล้วหาใช่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6)ไม่มีความประสงค์ที่จะถือว่าการเกษียณอายุไม่เป็นการเลิกจ้างไม่
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางมิได้ให้เหตุผลว่าเหตุใดการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 นั้น เห็นว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ได้วินิจฉัยประเด็นเรื่องเลิกจ้างไว้อย่างละเอียดครบถ้วนด้วยเหตุผลเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยทั้งสี่สิบสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share