แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้ (2) (ค) แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ด้วยคงยกเว้นให้เฉพาะเงินค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิกหรือเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการบริจาค หรือการให้โดยเสน่หาตามมาตรา 65 ทวิ (13) เท่านั้น แม้ตามมาตรา 79 ตรี (8) (ข) จะยกเว้นให้ไม่ต้องนำรายรับจากการบริจาคสินค้าเป็นสาธารณประโยชน์มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าก็ตาม แต่ก็ยกเว้นให้เฉพาะการบริจาคแก่องค์การ หรือสถานสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีกำหนดเท่านั้นประมวลรัษฎากรมิได้ยกเว้นไม่เก็บภาษีจากสมาคมเสียทีเดียว
แม้โจทก์จะมีฐานะเป็นสมาคม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1274 บัญญัติว่า กิจการของโจทก์มิใช่เป็นการประกอบกิจการค้าหากำไรมาแบ่งปันกันก็ตาม แต่ในเรื่องหน้าที่นำสืบประมวลรัษฎากรมิได้มีข้อสันนิษฐานไว้ให้เป็นคุณแก่โจทก์ กรณีจึงต้องเป็นไปตามหลักทั่วไปของมาตรา 84 แห่ง ป.วิ.พ. เมื่อประเด็นข้อพิพาทที่ว่าโจทก์มีรายได้ซึ่งต้องเสียภาษีหรือได้รับยกเว้นการเสียภาษีหรือไม่นั้น โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยให้การปฏิเสธ หน้าที่นำสืบจึงตกอยู่แก่โจทก์
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528มาตรา 17 การที่จะนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาอนุโลมใช้ได้ก็ต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร และข้อกำหนดคดีภาษีอากรตามมาตรา 20 บัญญัติหรือกำหนดไว้โดยเฉพาะเท่านั้น ดังนี้ เมื่อมีข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 8 กำหนดว่า คู่ความจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 88 แห่ง ป.วิ.พ.มาอนุโลมใช้ในกรณีการยื่นบัญชีระบุพยานคดีภาษีอากรได้
โจทก์อุทธรณ์เพียงขอให้เพิกถอนคำสั่งเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบ กับขอให้สั่งให้โจทก์มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามบัญชีระบุพยานที่ยื่นต่อศาล เป็นอุทธรณ์ที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ท้ายป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก) โจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ตามตาราง 1 ข้อ (1) (ก) จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่โจทก์