แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 30ห้ามมิให้นายจ้างนำหนี้อื่นมาหักจากค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างคำว่า “หนี้อื่น” นี้หมายถึงหนี้อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการปฎิบัติงานตามสัญญาจ้าง การที่โจทก์มีสิทธิเข้าพักอาศัยอยู่ในบ้านของบริษัทจำเลยนั้น ก็เพราะโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยแม้โจทก์จะเสียค่าเช่าเดือนละ 300 บาท และค่าไฟฟ้าก็เป็นจำนวนน้อยมาก สิทธิของโจทก์ดังกล่าวเป็นผลโดยตรงจากความผูกพันในฐานะลูกจ้างและนายจ้างระหว่างโจทก์จำเลย หนี้ดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นหนี้อันเกี่ยวกับการปฎิบัติงานตามสัญญาจ้าง หาใช่ หนี้อื่นตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 30 ไม่ จำเลยมีสิทธิหักค่าเช่าบ้านและค่าไฟฟ้าจากเงินเดือนของโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและจำเลยได้หักค่าเช่าบ้านและค่าไฟฟ้าจากค่าจ้างของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายค่าชดเชย ค่าเช่าบ้านและค่าไฟฟ้า จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้าง โจทก์ลาออกจากงานเองจำเลยปลูกบ้านให้ลูกจ้างเช่าอยู่อาศัยใกล้ที่ทำงานคิดค่าเช่าเดือนละ 300 บาท ค่าน้ำค่าไฟตามที่ได้ใช้จริง โจทก์เช่าบ้านของจำเลย จำเลยไม่ได้หักค่าเช่าและค่าไฟฟ้าจากเงินค่าจ้างของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้คืน ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยหักค่าเช่าบ้านและค่าไฟฟ้าจากเงินเดือนของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 30 ซึ่งกำหนดว่า ในการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดนายจ้างจะนำหนี้อื่นมาหักมิได้นั้น พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย พักอาศัยอยู่ในบ้านพักในโรงงานของจำเลย จำเลยคิดค่าเช่าบ้านเดือนละ300 บาท โดยหักค่าเช่าบ้านและค่าไฟฟ้าจากค่าจ้างของโจทก์ ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ดังอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวห้ามมิให้นายจ้างนำ “หนี้อื่น” มาหักจากเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งคำว่า “หนี้อื่น” นี้ ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วหมายถึงหนี้อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้าง ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่3546-3547/2524 ระหว่างนายเอกชัย บุญชู โจทก์การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยกรณีของโจทก์นี้ปรากฏว่าการที่โจทก์ได้มีสิทธิเข้าพักอาศัยอยู่ในบ้านของจำเลยนั้น ก็เพราะโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย แม้การเข้าอยู่อาศัยโจทก์จะได้เสียเงินค่าเช่าให้แก่จำเลยในอัตราเดือน 300 บาท และเสียค่าไฟฟ้าด้วยก็ตาม ก็นับว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก ซึ่งบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกจ้างของจำเลยย่อมไม่อาจใช้สิทธิดังเช่นโจทก์ได้ การที่โจทก์มีสิทธิดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงมาจากความผูกพันในฐานะลูกจ้างและนายจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยนั่นเอง หนี้ดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นหนี้อันเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้าง หาใช่หนี้อื่นตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 30 แต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินดังกล่าวนี้คืนจากจำเลยได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ยังมีพยานที่จะนำสืบอีกศาลแรงงานกลางมีคำสั่งตัดพยานโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้น พิเคราะห์แล้วในปัญหาดังกล่าวนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2530 ศาลแรงงานกลางสืบตัวโจทก์และนายวิเชษฐ์ เพิ่มมงคลกุล พยานโจทก์ได้รวม 2 ปากแล้วโจทก์แถลงขอสืบนายวิเชียร กอบประดิษฐ์ ในประเด็นที่ว่าพยานเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ที่โจทก์ทะเลาะกับนายเอี๋ยนและขอสืบนายสิน อ่วมใจบุญ ในประเด็นที่ว่าพยานเป็นพนักงานอยู่บ้านพักของจำเลยได้ถูกหักค่าเช่าบ้านและค่าไฟฟ้าเช่นเดียวกับโจทก์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานดังกล่าวนั้นเสียพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามประเด็นที่โจทก์ประสงค์จะนำสืบดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น มิได้เป็นประเด็นโต้เถียงกันในชั้นอุทธรณ์แต่อย่างใด จึงไม่จำต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ขอนำสืบอีกอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน