คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1256/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 3)พ.ศ.2497 มาตรา 3 ทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะใช้เพื่อประโยชน์ในการสร้างสถานศึกษานั้น ถ้าอยู่ภายในเขตที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศแล้ว ก็ได้รับการยกเว้นไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้เช่าที่ดินจากโจทก์มีกำหนด 1 ปี ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะใช้ประโยชน์ในการสร้างสถานศึกษาให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2500 ซึ่งออกตามความในมาตรา 95 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 5 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันฉบับที่ 3 พ.ศ. 2497 ที่ดินที่จำเลยเช่าอยู่ในที่ดินกำหนดเขตโดยพระราชกฤษฎีกานั้นด้วย โจทก์จึงได้มีหนังสือเลิกสัญญาเช่า จำเลยทราบคำบอกกล่าวแล้วขัดขืนไม่ยอมออกจากที่เช่า ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อย้ายออกจากที่ดินพิพาท

จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ยังไม่มีเหตุฟ้องขับไล่จำเลยได้

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อบ้านสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ซึ่งได้เพิ่มความเป็นมาตรา 5 ทวิ ของพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พ.ศ. 2489 ปรากฏชัดแล้วว่า ทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะใช้เพื่อประโยชน์แห่งการศึกษาของชาตินั้น ไม่ว่าจะได้ให้บุคคลใดเช่าไปก่อนหรือหลังวันใช้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ได้รับการยกเว้นไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน และทรัพย์สินรายพิพาทนี้ก็ได้อยู่ภายในเขตที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศตามความในวรรคท้ายของบทกฎหมายดังกล่าวนั้นแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าเพียงแต่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศเท่านั้นไม่พอ จะต้องมีงบประมาณพร้อมที่จะสร้างสถานศึกษาด้วยนั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะตามกฎหมาย เมื่อเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในเขตของประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา และเป็นทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะใช้เพื่อประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็ได้รับการยกเว้นไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share