คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองเคยถูกพนักงานอัยการฟ้องข้อหาบุกรุกที่ดินพิพาทของโจทก์ ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงยอมความกันให้จำเลยที่ 1 อยู่ในที่ดินต่อไปจนกว่าจะเก็บพืชผลเสร็จ และผู้ดูแลที่พิพาทของโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 2 อาศัยอยู่ได้ การที่จำเลยทั้งสองอยู่ในที่ดินต่อมาจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก ต่อมาโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่พิพาทอีก ศาลพิพากษายกฟ้องว่าโจทก์ฟ้องภายหลัง 1 ปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง โดยมิได้วินิจฉัยถึงสิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้โดยอ้างข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ประเด็นที่ศาลยกฟ้องในคดีที่สองกับประเด็นคดีนี้แตกต่างกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม มาตรา 148 โจทก์ฟ้องคดีนี้ให้จำเลยที่ 1 ออกไปจากที่พิพาทโดยอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความและให้จำเลยที่ 2 ออกไปจากที่พิพาทที่จำเลยที่ 2 อาศัยอยู่ตามที่ศาลฎีกาได้ฟังข้อเท็จจริงไว้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่กรณีถูกแย่งการครอบครองแล้วฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง ไม่อยู่ในบังคับให้ฟ้องภายใน 1 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เล่มที่ 14 หน้า 36 เลขที่ 180 เนื้อที่ 49 ไร่10 ตารางวา และเล่มที่ 14 หน้า 37 เลขที่ 181 เนื้อที่ 47 ไร่ 2 งานอยู่ที่ตำบลบ่อกรุ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ติดต่อกัน เดิมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2519 จำเลยทั้งสองกับนายบุญช่วยเกาะแก้ว ได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงดังกล่าวและได้ถูกพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีฟ้องเป็นคดีอาญาฐานบุกรุก โดยโจทก์เป็นผู้เสียหาย ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 273/2520 หมายเลขแดงที่ 644/2522 ของศาลชั้นต้นคดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2524 (ที่ถูกคือ 27 กุมภาพันธ์2524) โดยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์และรับว่าจะออกจากที่ดินของโจทก์หลังจากเก็บมันสำปะหลังที่ปลูกไว้แล้ว แม้จะฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ผิดเงื่อนไขโดยไม่ยอมออกจากที่ดินของโจทก์ตามที่ยอมความไว้ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากสำหรับนายบุญช่วย เกาะแก้ว ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า มิได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายพรหมาผู้ดูแลที่ดินของโจทก์อนุญาตให้จจำเลยที่ 2 เข้าไปทำกินในที่ดินของโจทก์จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดในทางอาญาส่วนในทางแพ่งการที่จำเลยที่ 2เข้าไปทำกินในที่ดินของโจทก์โดยอาศัยสิทธิของนายพรหมาจึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 เข้าไปทำกินโดยอาศัยโจทก์หรือสิทธิจากนายพรหมาและถือว่าเริ่มนับอายุความการฟ้องคดีแพ่งตั้งแต่วันที่ศาลฎีกาได้พิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไป ส่วนระหว่างที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยจนถึงศาลฎีกาได้พิพากษานั้นถือว่าอยู่ในระหว่างอายุความสะดุดหยุดอยู่ตั้งแต่ศาลฎีกาได้พิพากษาดังกล่าวแล้วจำเลยทั้งสองไม่ยอมออกจากที่ดินของโจทก์ตลอดมาจนบัดนี้ โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมออก ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองเดิมเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนได้เข้าจับจองครอบครองโดยความสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของทำประโยชน์กันเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาติดต่อกัน 19 ปีเศษแล้ว ที่ดินของจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 27 ไร่ ที่ดินของจำเลยที่ 2เนื้อที่ 12 ไร่ 2 งาน โจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1ไม่เคยทำสัญญาประนีประนอมยอมควาามกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ลงชื่อในบันทึกประจำวันเพราะหลงเชื่อโดยสุจริตว่าเพื่อเป็นหลักฐานในการที่ตำรวจเรียกตัวจำเลยที่ 1 ไปสถานีตำรวจ สัญญาไม่ผูกพันจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ไม่เคยอาศัยสิทธิของโจทก์หรือนายพรหมาเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินมือเปล่าต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์อ้างว่าถูกแย่งการครอบครองตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2519 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม2528 เป็นเวลาถึง 9 ปี 6 เดือน พ้นระยะเวลาที่จะฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสองแล้ว ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำเพราะเมื่อปี พ.ศ. 2520 โจทก์ (ที่ถูกคือ พนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรี) ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญากล่าวหาว่า จำเลยที่ 1กับพวกบุกรุกที่ดินพิพาท ศาลพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 644/2522 ของศาลชั้นต้นและปี พ.ศ. 2521โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีก ศาลพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วเช่นเดียวกัน ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่580/2526 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1เป็นฟ้องซ้ำ และโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองภายหลัง 1 ปี นับแต่รู้ว่าถูกแย่งการครอบครองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีภายหลังเวลา 1 ปี นับแต่รู้ว่าถูกแย่งการครอบครอง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ไม่มีการสืบพยาน ข้อเท็จจริงตามคำแถลงรับของโจทก์ คำแถลงรับของจำเลยทั้งสอง และสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 580/2526 กับสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 644/2522ของศาลชั้นต้นที่คู่ความอ้างอิงประกอบคำแถลงเป็นหลักฐานฟังได้ว่าโจทก์ชื่อนายเจียก หรือเจียด เนตรสว่าง โจทก์เคยฟ้องคดีแพ่งขอให้ขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ สารบบเล่มหน้า 180 หมู่ที่ 3 ตำบลบ่อกรุอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ตามคดีหมายเลขแดงที่ 580/2526ของศาลชั้นต้น ที่ดินที่ฟ้องในคดีดังกล่าวคือ ที่ดินในคดีนี้ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เล่มที่ 14 หน้า 36 เลขที่ 180 เนื้อที่ที่จำเลยที่ 1 ครอบครองปรากฏตามแผนที่พิพาทภายในกรอบสีเขียวศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ภายหลัง 1 ปีนับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2528คดีถึงที่สุด นอกจากนี้ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 644/2522 ของศาลชั้นต้นพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกอีกหนึ่งคน กล่าวหาว่าร่วมกันบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์และที่ดินที่จำเลยทั้งสองบุกรุกในคดีดังกล่าวก็คือที่ดินที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ คือ แปลงภายในกรอบสีเขียวและแปลงภายในกรอบสีม่วงตามแผนที่พิพาทในคดีอาญาดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน จำหน่ายคดีเฉพาะนายบุญช่วย เกาะแก้ว พวกของจำเลยทั้งสอง และยกฟ้องจำเลยที่ 2โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสาม ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 1เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของโจทก์ แต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงยอมความกันโดยให้จำเลยที่ 1 อยู่ในที่ดินต่อไปจนกว่าจะเก็บข้าวโพดและมันสำปะหลังเสร็จ การที่จำเลยที่ 1 อยู่ในที่พิพาทต่อมาจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกอีก พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาศาลฎีกาพิพากษายืน ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์และจำเลยทั้งสองฟังเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2524 และนับแต่วันนั้นมาจำเลยทั้งสองยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา โดยจำเลยที่ 1ครอบครองบริเวณภายในกรอบสีเขียว จำเลยที่ 2 ครอบครอบบริเวณภายในกรอบสีม่วงในแผนที่พิพาทเอกสารอันดังที่ 23 ในสำนวนครั้นวันที่ 9สิงหาคม 2528 โจทก์จึงมาฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และที่ เป็นคดีนี้
พิเคราะห์แล้ว โดยที่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 มาแล้ว ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 580/2526 ของศาลชั้นต้นจึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ ปัญหาข้อนี้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในชั้นฎีกา แต่ก็เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเอง ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่580/2526 ของศาลชั้นต้นนั้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกไถที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วของโจทก์และได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ในชั้นพนักงานสอบสวนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ยอมออกไปจากที่ดินนั้น จึงขอให้ขับไล่และใช้ค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ภายหลังเวลา 1 ปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด ทั้งนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแต่อย่างใด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 2 โดยกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีกหนึ่งคนได้บุกรุกที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วของโจทก์และโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยที่ 1 ยอมออกไปจากที่ดินของโจทก์หลังจากเก็บมันสำปะหลังที่ปลูกไว้เสร็จแล้ว และว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 644/2522 ของศาลชั้นต้นแล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุกเพราะมีสิทธิอยู่ในที่ดินของโจทก์ตามที่ตกลงยอมความกับโจทก์ไว้ แต่จำเลยที่ 1ตกลงจะออกไปจากที่ดินของโจทก์หลังจากเก็บมันสำปะหลังที่ปลูกไว้เสร็จแล้ว ส่วนการที่หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ยอมออกจากที่ดินของโจทก์ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น อยู่ในที่ดินของโจทก์ได้โดยอาศัยสิทธิของนายพรหมาผู้ดูแลที่ดินของโจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ยอมออกจากที่ดินของโจทก์ และโจทก์ได้แจ้งให้ออกไปแล้ว โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสอง ดังนี้เห็นว่า ในคดีก่อนคือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 580/2526 นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 แย่งการครอบครองเกิน 1 ปี เป็นเหตุให้โจทก์หมดสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 หาได้วินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่ โดยยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงยอมความไว้กับโจทก์แล้วไม่ปฏิบัติตามยอมโดยไม่ยอมออกไปจากที่ดินของโจทก์ ขอให้ขับไล่ออกไปดังนี้ประเด็นตามฟ้องในคดีหลังจึงมีว่าข้อตกลงยอมความกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้แล้วนั้นเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ให้สิทธิโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1ออกจากที่ดินของโจทก์ได้หรือไม่ จึงเห็นได้ว่าประเด็นที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเป็นเหตุยกฟ้องในคดีก่อนกับที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นประเด็นให้วินิจฉัยในคดีหลังนี้แตกต่างกัน ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะถือว่าเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองว่า เดิมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2519 จำเลยทั้งสองกับนายบุญช่วย เกาะแก้ว ได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ และได้ถูกพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีฟ้องเป็นคดีอาญาฐานบุกรุก โดยโจทก์เป็นผู้เสียหายปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 644/2522 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงยอมความกับโจทก์รับว่าจะออกไปจากที่ดินของโจทก์หลังจากเก็บมันสำปะหลังที่ปลูกไว้เสร็จแล้ว นายบุญช่วยไม่ได้ร่วมกระทำผิด ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นนายพรหมาผู้ดูแลที่ดินของโจทก์อนุญาตให้เข้าไปทำกินในที่ดินนั้นได้จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดทางอาญา ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ยอมออกโจทก์จึงบอกกล่าวให้ออกและฟ้องคดีนี้ ดังนี้ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงยอมความกับโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นคดีอาญาและเพื่อให้โจทก์ได้ที่ดินคืนหลังจากจำเลยที่ 1 เก็บมันสำปะหลังไว้เสร็จแล้ว ข้อตกลงยอมความกับระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่บังคับกันได้ ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการขอบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นั้นเป็นการขอบังคับผู้อาศัยให้ออกไปจากที่ดินของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 เข้ามาอาศัยอยู่ ฟ้องของโจทก์ทั้งที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่กรณีถูกแย่งการครอบครองแล้วฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง ที่บังคับให้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้ำก็ดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องแย่งการครอบครองก็ดีศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย…”
พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินของโจทก์บริเวณที่จำเลยแต่ละคนครอบครองอยู่ตามแผนที่พิพาทเอกสารอันดับที่ 23ในสำนวน.

Share