คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1253/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เทศมนตรีและปลัดเทศบาลเป็นกรรมการรักษาเงินร่วมกับสมุหบัญชีเพียงเท่านี้ยังไม่ต้องรับผิดในการที่เงินขาดจำนวนไปเพราะสมุหบัญชียักยอก
สมุหบัญชีไม่ลงบัญชีเงิน ยักยอกไว้เสีย แม้กรรมการรักษาเงินจะดูบัญชีก็ไม่เห็นอะไร การที่กรรมการไม่ดูบัญชี ไม่เป็นเหตุให้ต้องรับผิด

ย่อยาว

ฟ้องแยกได้ดังนี้ ข้อ 1. ฟ้องกล่าวว่า โจทก์เป็นเทศบาลเมืองตากจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี จำเลยที่ 2 เป็นเทศมนตรี จำเลยที่ 3 เป็นปลัดเทศบาล จำเลยที่ 4 เป็นสมุหบัญชี จำเลยที่ 5 เป็นเสมียนโดยเฉพาะจำเลยที่ 2, 3 และ 4 ยังมีหน้าที่เป็นกรรมการรักษาเงินประจำสำนักงานของโจทก์ด้วย

ข้อ 2. ฟ้องกล่าวถึงหน้าที่การงานของจำเลยแต่ละคน

ข้อ 3. ฟ้องกล่าวว่า จำเลยร่วมกันทำละเมิด แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เฉพาะที่โจทก์ระบุว่า จำเลยที่ 1, 2, 3 ทำละเมิดนั้นอย่างไร ดังต่อไปนี้

(ก) จำเลยที่ 3 ลงบัญชีแสดงว่า เงินรับจากคลังจังหวัดตากน้อยกว่าจริง เพื่อพรางให้เห็นว่า เงินของโจทก์ไม่ขาดมาก

(ข) จำเลยที่ 1, 2, 3 ไม่ควบคุมและตรวจตราด้วยความระมัดระวังให้การงานของโจทก์เป็นไปด้วยดี แม้ยอดเงินคงเหลือที่จำเลยที่ 1, 2, 3 จะพึงรับทราบ เมื่อไม่ได้รับทราบก็ไม่ทักท้วงไม่เข้าควบคุมโดยใกล้ชิด จำเลยที่ 1, 2, 3 รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 4 ไม่ส่งเงินที่เหลือให้กรรมการรักษาเงิน จำเลยก็ปล่อยปละละเลยไม่จัดเสียให้ถูก เหล่านี้เป็นช่องทางช่วยให้โจทก์ได้รับความเสียหายคือเงินขาด 13,795 บาท 4 สตางค์

(ค) ยังมีเงินอีกจำนวนหนึ่ง 468 บาท จำเลยที่ 4 ยืนแล้วไม่ใช้ จำเลยที่ 1, 2, 3 ไม่เอาใจใส่ควบคุมบังคับบัญชาให้จำเลยที่ 4 ใช้

โจทก์ขอให้จำเลยร่วมกันหรือคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะใช้เงินโจทก์ที่ขาดหายไปรวม 14,263 บาท 4 สตางค์

จำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่ยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2, 3, 4 ให้การปฏิเสธความรับผิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 10,547 บาท 94 สตางค์กับดอกเบี้ย ส่วนเงิน 468 บาท กับดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 4 ผู้เดียวชำระแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องที่กล่าวหาจำเลยที่ 1, 2, 3

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า เงินจำนวน 10,547 บาท 94 สตางค์นั้น จำเลยที่ 2, 3 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 4 ที่ 5

โจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาปรึกษาคดีแล้ว ปรากฎว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 4 ที่ 5 นั้น ศาลอุทธรณ์อาศัยเหตุอื่น ไม่ใช่เหตุร่วมกันทำละเมิดดุจที่โจทก์ฟ้อง จำเลยร่วมกันทำละเมิดหรือเปล่านั้นควรกล่าวก่อนการนำสืบโจทก์จำเลยมีพยานฝ่ายละคนเดียว คำเบิกความไม่ปรากฎว่าจำเลยร่วมกันทำละเมิด คำฟ้องนั้นเองยังได้กล่าวถึงการกระทำละเมิดเป็นรายตัวจำเลยดังยกขึ้นแสดงไว้แล้วตอนย่อฟ้องข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยร่วมกันทำละเมิด จำเลยที่ 1, 2, 3 แต่ละคน คนใดทำละเมิดอย่างไรหรือไม่ จะต้องรับผิดหรือเปล่าจะวินิจฉัยต่อไป

คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์หาว่า จำเลยที่ 1, 2, 3 ทำละเมิดเป็นเหตุให้เงินขาด ค่าเสียหายที่ขอมาคือจำนวนเงินที่ขาด เงินที่ขาดนี้เป็นเงินรายต่าง ๆ การเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่คราวเดียว

เงินขาดก้อนเดียว การเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากเงินรายย่อยขาดทีละรายหลาย ๆ ราย รวมจึงเป็นเงินก้อน ช่องทางที่เงินขาดมีต่าง ๆ กัน บางรายรับเงินไว้มากลงบัญชีน้อยหรือบางรายไม่ได้ลงบัญชี เช่นนี้เป็นต้น รายใดขาดไปด้วยอาการอย่างไร การนำสืบไม่แสดงโดยชัดเจน โจทก์มีพยานปากเดียวดังกล่าวข้างต้น ไม่มีใครอธิบายให้เข้าใจได้ว่า เงินรายใดขาดไปโดยจำเลยคนไหน ทำละเมิดอย่างไร

กล่าวถึงฟ้องข้อ 3 (ก) ที่ว่า จำเลยที่ 3 ลงบัญชีแสดงว่าเงินรับจากคลังจังหวัดตากน้อยกว่าจริง โจทก์ว่าจำเลยที่ 3 พรางข้อนี้ก็ไม่จริง ศาลชั้นต้นกล่าวไว้แล้ว การตัดยอดเงินบางทีทำให้สะดวกแก่การลงบัญชีต่อ ๆ ไปก็ไม่ใช่เรื่องพราง อนึ่งการตัดยอดเงินไม่แน่ว่าเป็นต้นเหตุให้เงินขาด การตัดยอดเงินในกรณีอย่างนี้จึงไม่เป็นละเมิด

ฟ้องข้อ 3(ข) กล่าวมาแล้วว่า เงินรายใดขาดโดยเหตุอย่างไรการนำสืบไม่แสดงให้เห็น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็รู้ไม่ได้ว่า เงินรายใดจำเลยคนใดจงใจหรือประมาททำให้เกิดการเสียหาย ตัวอย่างที่เห็นได้ก็เช่นเงินในฟ้องข้อ 3(ค) ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ชี้ให้เห็นแล้วว่า ที่จะให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 รับผิดด้วยนั้นไม่ได้หรือเช่นเงินที่ไม่ลงบัญชีซึ่งหากจะดูบัญชีก็ไม่เห็นอะไรการไม่ดูบัญชีในกรณีอย่างนี้ก็ไม่ใช่เหตุซึ่งทำให้จำเลยต้องรับผิด

เงินตามฟ้องข้อ 3(ข) นี้ ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 รับผิดศาลอุทธรณ์อ้างเหตุว่า เพราะจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นกรรมการรักษาเงินร่วมกับจำเลยที่ 4 แต่ทั้งนี้ต้องระลึกว่า คดีนี้เป็นเรื่องละเมิด ต้องได้ความว่า จงใจหรือประมาทในเมื่อมีหน้าที่จะต้องระมัดระวัง เพียงแต่เป็นกรรมการรักษาเงินไม่หมายความว่าต้องรับผิดในเงินขาดโดยไม่ยกเว้นศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้จงใจและไม่ได้ประมาทเลินเล่อ แต่ศาลอุทธรณ์อาศัยเหตุที่ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นกรรมการรักษาเงินร่วมกับจำเลยที่ 4 จึงให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 4 และร่วมตลอดจนที่ 5 เงินที่ให้รับผิดร่วมก็มีประเภทต่าง ๆ กันเช่นนี้ศาลนี้จึงไม่เห็นพ้อง

ฟ้องข้อ 3 (ค) ข้อนี้กล่าวมาบ้างแล้วข้างต้นไม่เป็นเงินที่จำเลยที่ 1, 2, 3 ต้องรับผิด

พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีอย่างศาลชั้นต้น ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมทั้งสิ้นแทนจำเลยที่ 2, 3 ค่าทนายทั้งสิ้นใช้แทนจำเลยที่ 2, 3 เป็นเงินแปดร้อยบาท

Share