แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ ม. ผู้ร่วมกระทำความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งพกติดตัวเป็นของกลาง โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การล่อซื้อยาเสพติดให้โทษสายลับได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อกับโทรศัพท์ของ ม. ส่วนการที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้ให้ ม. โทรศัพท์ไปติดต่อขอซื้อยาเสพติดให้โทษจากผู้คัดค้านทั้งสอง ก็เป็นการติดต่อล่อซื้อเพื่อขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดเพิ่มขึ้น ถือไม่ได้ว่า ม. ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บง 9590 อ่างทอง โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่องของกลาง ซึ่งผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกใช้เป็นยานพาหนะและเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ในการกระทำความผิด เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดและมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30
ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้มีคำสั่งคืนรถกระบะของกลางแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถกระบะหมายเลขทะเบียน บง – 9590 อ่างทอง โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 8850 จำนวน 1 เครื่อง และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อแอลจี จำนวน 1 เครื่อง ของกลาง ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง และคืนรถกระบะหมายเลขทะเบียน บง 9590 อ่างทอง โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 8850 และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อแอลจี ของกลางแก่เจ้าของ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2548 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านทั้งสองพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 10 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.164 กรัม รถกระบะหมายเลขทะเบียน บง 9590 อ่างทอง ที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และใช้ขับไปที่เกิดเหตุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 8850 หมายเลข 0 9905 5424 ที่ตัวผู้คัดค้านที่ 1 และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อแอลจี หมายเลข 0 9185 9831 ที่ตัวผู้คัดค้านที่ 2 เป็นของกลาง ต่อมาผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองเป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 539/2548 ของศาลชั้นต้น ในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ด ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ทรัพย์ของกลางทั้งสามรายการ เป็นทรัพย์อันพึงต้องริบเสียตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านทั้งสองใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับนายมนัส และผู้คัดค้านที่ 1 ขับรถกระบะของกลางให้ผู้คัดค้านที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ด ไปส่งให้นายมนัสที่บ้านของนายวโรทัย โทรศัพท์เคลื่อนที่และรถกระบะของกลาง จึงเป็นทรัพย์สินและยานพาหนะที่ผู้คัดค้านทั้งสองใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันพึงที่ต้องริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ของกลางดังกล่าวตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่รวม 3 เครื่อง ซึ่งป็นของนายมนัส 1 เครื่อง และของผู้คัดค้านทั้งสองคนละ 1 เครื่อง โดยอ้างว่าเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการกระทำความผิด เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียง 2 เครื่อง ซึ่งเป็นของผู้คัดค้านทั้งสอง แต่ในส่วนที่เป็นของนายมนัสคือโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 6600 หมายเลข 0 6551 9935 ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งว่าจะริบหรือไม่ เป็นการไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (6) ประกอบมาตรา 215 และ 225 อย่างไรก็ดีศาลชั้นต้นได้ไต่สวนพยานผู้ร้องครบถ้วนแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก่อน ได้ความจากทางไต่สวนข้างต้นว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายวโรทัยและนายมนัสได้จากการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน 30 เม็ด เจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายมนัสซึ่งพกติดตัวเป็นของกลาง เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 6600 หมายเลข 0 6551 9935 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การล่อซื้อดังกล่าวสายลับได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายมนัส ส่วนการที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้ให้นายมนัสโทรศัพท์ไปติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากผู้คัดค้านทั้งสอง ก็เป็นการติดต่อล่อซื้อเพื่อขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดเพิ่มขึ้น ถือไม่ได้ว่านายมนัสใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดจึงไม่อาจริบได้ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30
พิพากษาแก้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนคำขอริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกียรุ่น 6600 จำนวน 1 เครื่องของกลางให้ยก