คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8055/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทรัพย์มรดกที่ ด. ได้รับจากกองมรดกของ ธ. เป็นที่ดิน ซึ่งผู้จัดการมรดกของ ธ. ได้ดำเนินการขายที่ดินทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งเงินแก่ทายาทของ ธ. เป็นคราว ๆ และ ด. ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกดังกล่าวด้วย เมื่อ ด. ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกของ ธ. แล้ว ก็หาได้ระบุกันเงินส่วนดังกล่าวไว้ต่างหากเป็นพิเศษไม่ เงินที่ ด. ได้รับจากกองมรดกของ ธ. จึงระคนกับเงินส่วนอื่นที่ ด. มีอยู่ ไม่อาจถือเป็นทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างได้ การที่ ด. ทำพินัยกรรมฉบับก่อนยกเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงหาเป็นพินัยกรรมลักษณะเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1651 (2) ไม่ เมื่อต่อมา ด. ได้ทำพินัยกรรมฉบับหลังยกเงินจำนวนเดียวกันให้จำเลยอีก ข้อความของพินัยกรรมทั้งสองฉบับที่ระบุให้เงินของ ด. ตกแก่ทายาทต่างคนกันจึงขัดกัน และ ด. ผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 1697 ที่ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง โจทก์จึงหามีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของ ด. ไม่ เพราะสิทธิของโจทก์ถูกยกเลิกไปแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,509,816 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,415,035 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 733,130 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไป จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า การที่จำเลยส่งสำเนาพินัยกรรมในวันที่ 30 เมษายน 2552 โดยส่งสำเนาที่ต้องให้โจทก์ต่อศาล มิได้นำส่งสำเนาให้โจทก์ตามที่กฎหมายกำหนด และโจทก์ซึ่งได้รับสำเนาพินัยกรรมในวันสืบพยานโจทก์วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 ทำให้ไม่ควรรับพินัยกรรม ไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายในการนำส่งสำเนาพินัยกรรมให้โจทก์ คงส่งสำเนาไว้ต่อศาลเท่านั้นก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้พินัยกรรมเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ที่ศาลชั้นต้นอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) รับพินัยกรรมเพื่อฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า พินัยกรรมเป็นพินัยกรรมลักษณะเฉพาะหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า ทรัพย์มรดกในส่วนที่พระดำได้รับจากกองมรดกของนายธงชัย ซึ่งมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน และผู้จัดการมรดกของนายธงชัยได้ดำเนินการขายที่ดินทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งเงินให้แก่ทายาทของนายธงชัยเป็นคราว ๆ พระดำได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกดังกล่าวด้วย การที่พระดำทำพินัยกรรมยกเงินดังกล่าวแก่โจทก์ จึงหาเป็นพินัยกรรมลักษณะเฉพาะไม่ เพราะการจะเป็นพินัยกรรมลักษณะเฉพาะจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 1651 (2) ว่า “เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ซึ่งเจาะจงไว้โดยเฉพาะ หรือแยกไว้ต่างหากเป็นพิเศษจากกองมรดก บุคคลนั้นเรียกว่า ผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ และมีสิทธิและความรับผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น” เมื่อพระดำได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกของนายธงชัย พระดำก็หาได้ระบุกันเงินส่วนดังกล่าวไว้ให้ต่างหากเป็นพิเศษไม่ เงินที่พระดำได้รับจากกองมรดกของนายธงชัย จึงระคนกับเงินส่วนอื่นที่พระดำมีอยู่ เงินดังกล่าวจึงไม่อาจถือเป็นทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างได้ ดังนั้น เมื่อพินัยกรรมมิใช่พินัยกรรมลักษณะเฉพาะ เมื่อต่อมาพระดำได้ทำพินัยกรรมแม้ขณะที่พระดำทำพินัยกรรมฉบับดังกล่าว พระดำจะมีอายุมาก แต่จำเลยมีนายแพทย์ระพี และนางสาวสุพัตรา เบิกความยืนยันว่า พยานจำเลยทั้งสองเป็นพยานในพินัยกรรม เห็นพระดำมีสติและมีความสามารถในการทำพินัยกรรมได้โดยสมบูรณ์ พินัยกรรมซึ่งจัดทำขึ้นภายหลังพินัยกรรม จึงมีผลสมบูรณ์ นอกจากนี้ ได้ความตามทางนำสืบของตัวโจทก์และพระบุญเสริม ว่าพระดำมีเงินที่ได้จากการแบ่งมรดกของนายธงชัย ไม่มีบัญชีเงินฝากอื่น ส่วนรถยนต์กระบะของพระดำ ได้ความว่าให้วัดใช้สอย แสดงว่ารถยนต์ดังกล่าวพระดำได้ยกให้วัดแล้ว จึงมิใช่มรดกของพระดำ โจทก์ฎีการะบุว่า พระดำมีทรัพย์สินเป็นเงินที่ได้จากกองมรดกของนายธงชัย กับทรัพย์อื่นคือรถยนต์กระบะ แต่เมื่อได้ความว่ารถยนต์กระบะมิใช่ทรัพย์มรดกเพราะพระดำยกให้วัดไปแล้ว ทรัพย์ของพระดำที่จะเป็นมรดกจึงมีเพียงเงินที่ได้รับแบ่งจากกองมรดกของนายธงชัยเท่านั้น การที่พระดำทำพินัยกรรมยกทรัพย์ส่วนนี้เป็นมรดกให้โจทก์ แล้วยังทำพินัยกรรม ยกทรัพย์มรดกซึ่งหมายถึงเงินจำนวนเดียวกันให้จำเลยอีก ฉบับที่ระบุให้เงินของพระดำตกแก่ทายาทต่างคนกัน ขัดกัน และพระดำผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1697 ที่ให้ถือว่าพินัยกรรมซึ่งเป็นพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรม ซึ่งเป็นพินัยกรรมฉบับหลัง ดังนั้น โจทก์จึงหามีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของพระดำไม่ เพราะสิทธิของโจทก์กับพวกตามพินัยกรรมถูกยกเลิกไปแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share