แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมายตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.250 ซึ่งต่างกับประมวลกฎหมายอาญา ม.289 ข้อ 4 ที่ว่า ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.250 จึงเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย เพราะจะต้องให้ได้ความว่า เป็นการฆ่าคนโดยพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมายจึงจะมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญาม.250 ที่โจทก์อ้าง
(หมายเหตุ ตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.250 และตาม ประมวล ก.ม.อาญา ม.289 มีโทษสถานเดียวเท่ากันคือประหารชีวิต)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันใช้ปืนซึ่งมีอยู่โดยไม่รับอนุญาตยิงนายดำรงค์ตาย โดยเจตนา โดยความพยายามด้วยความพยาบาทมาทหมายของจำเลยที่ ๑ ซึ่งโกรธเคืองนายดำรงค์มาก่อนเพราะนางดำรงค์ขัดขวางไม่ยอมให้ น.ส.สมจิตรน้องภรรยายอมเลิกคดีและรับเงินค่าทำขวัญในกรณีที่จำเลยที่ ๑ ฉุดคร่าพา น.ส.สมจิตรไปเพื่อการอนาจารและพยายามข่มขืนกระทำชำเรา ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๒๔๙,๒๕๐,๖๓ พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ พ.ศ.๒๔๙๐ ม.๗-๗๒
จำเลยทั้งสองปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาว่า จำเลยที่ ๑ ผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๒๔๙ จำคุก ๒๐ ปี ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ เสียด้วย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามฟ้อง
ศาลฎีกาเชื่อว่า จำเลยที่ ๑ ฆ่าผู้ตายจริง แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ฆ่าผู้ตายโดยความพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย ตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๒๕๐ ซึ่งต่างกับประมวลกฎหมายอาญา ม.๒๘๙ ข้อ ๔ ที่ว่า ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๒๕๐ จึงเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย กล่าวคือ จะต้องได้ความว่า เป็นการฆ่าคนโดยความพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย จึงจะมีความผิดตามกฎหมายที่โจทก์อ้าง แต่เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอจะฟังว่าจำเลยได้ฆ่าผู้ตายโดยความพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย ตาม ก.ม.ที่โจทก์อ้าง จึงลงโทษตาม ม.๒๕๐ ไม่ได้ พิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ยืนตามศาลชั้นต้น