คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 125/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยที่ว่า สัญญาเช่านาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า จำเลยมิได้นำไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงและมิได้ค้างชำระค่าเช่านา รวมทั้งเรื่องค่าเสียหายเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ข้อที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาเช่าเป็นหนังสือตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 34โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้บอกเลิกการเช่าที่ดินแก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธประเด็นข้อนี้ ถือว่าจำเลยยอมรับจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว ปัญหานี้แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าที่ดินโจทก์ทำนาตั้งแต่ปี 2522 โดยไม่มีการทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือ ตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปัจจุบันก็ไม่ยอมชำระค่าเช่าและจำเลยยังได้นำที่ดินของโจทก์ไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง และแปรสภาพที่ดินของโจทก์ ทำให้สภาพที่นาเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาตรา 31 โจทก์ได้บอกเลิกการเช่าที่ดินแก่จำเลย จำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7081 ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลนจังหวัดนครปฐม ห้ามเกี่ยวข้องกับพืชผลที่มีอยู่ในที่ดินที่เช่าและเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ดินที่ค้างเป็นจำนวนเงิน 36,000 บาท พร้อมทั้งชำระค่าเช่าที่ดินให้แก่โจทก์ปีละ 9,000 บาท นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2528เป็นต้นไปจนกว่าจะออกจากที่ดินของโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้โจทก์รื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยได้ โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายจำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยได้ชำระค่าเช่ามาตลอดจนถึงปี 2524 โจทก์จำเลยได้ตกลงกัน โดยโจทก์เสนอให้จำเลยจัดการลงทุนปรับพื้นที่ที่นาทั้งแปลงพร้อมทั้งให้จำเลยทำถนนและฝังท่อเข้าไปในนา โจทก์ก็จะให้จำเลยทำนาตลอดไป และไม่เก็บค่าเช่าเป็นเวลา 7 ปี จำเลยตกลงทำตามข้อเสนอแล้ว โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าเช่ามาจากจำเลยได้จนกว่าจะถึงสิ้นปี 2530 ข้อตกลงดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า จำเลยไม่เคยนำที่ดินของโจทก์ไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7081 ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้โจทก์รื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยได้ โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ดินที่ค้างชำระเป็นเงิน36,000 บาท และให้ชำระเงินปีละ 9,000 บาท นับแต่วันที่ 31กรกฎาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า คำขอของโจทก์ที่ว่าหากจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนนั้นให้ยกเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าที่ดินที่ค้างชำระจากจำเลยจำนวน 36,000 บาท และฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินซึ่งมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องปีละ 9,000 บาท หรือเดือนละ750 บาท จึงเป็นคดีฟ้องเรียกค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์อันมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท และเป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ5,000 บาท เมื่อจำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์จำเลยมีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าต่อกัน จำเลยมิได้นำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงและมิได้ค้างชำระค่าเช่า รวมทั้งเรื่องจำนวนค่าเสียหายนั้น ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาดังกล่าวมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 34 จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้บอกเลิกการเช่าที่ดินแก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตาม จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธในประเด็นข้อนี้ ถือว่าจำเลยยอมรับแล้ว จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยโดยชอบแล้ว ปัญหานี้แม้ว่าจำเลยจะยกขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ในศาลอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน”
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share