แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีก่อนถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์และจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาท โดยไม่ได้วินิจฉัยหรือพิพากษาให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทให้เป็นส่วนสัดแยกจากกัน แต่คดีนี้โจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทฟ้องขอให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทให้เป็นส่วนสัดจากกัน คดีก่อนกับคดีนี้จึงมีประเด็นแห่งคดีและคำขอบังคับแตกต่างกัน ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่นำโฉนดที่ดินเลขที่ 1456ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้รังวัดแบ่งแยกเป็นของโจทก์ทั้งสองคนละ 4 ไร่2 งาน 15 ตารางวา หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ หากไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ให้นำที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดเอาเงินที่ขายได้แบ่งกันตามส่วนกรรมสิทธิ์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้ร่วมครอบครองที่พิพาทด้วย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิรับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นการฟ้องขอแบ่งมรดกเกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1456 ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทองจังหวัดสุพรรณบุรี เฉพาะส่วนที่อยู่นอกการครอบครองของจำเลยที่ 1ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยให้โจทก์ทั้งสองได้คนละหนึ่งในสี่ส่วนหากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ หากไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินที่ขายได้แบ่งกันตามส่วน คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 192/2523 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบ มาตรา 247ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1456 ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมายจ.1 เป็นทรัพย์มรดกของนางซอย ตกทอดแก่ทายาททายาทชั้นบุตรของนางซอยคือ นางผิว มารดาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในคดีนี้นายกาย อิ้งเพ็ชร บิดาของโจทก์ที่ 2 ในคดีนี้ นายกลม อิ้งเพ็ชรโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้ และนางมา ไฝเพ็ชร เคยร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องบุตรอีกคนหนึ่งของนางซอย คือ นางแกม อิ้งเพ็ชร จำเลยที่ 1ในคดีนี้เป็นจำเลย ขอรับมรดกและแบ่งแยกที่ดินพิพาท คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ทั้งสี่ในคดีนั้นมีสิทธิร่วมกันในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่อยู่นอกเขตการครอบครองของจำเลยในคดีนั้นซึ่งอยู่ภายในเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาท เนื้อที่ 10 ไร่เศษ ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 192/2523 ของศาลชั้นต้น ต่อมาโจทก์และจำเลยทุกคนในคดีนี้ได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทแล้วโดยโจทก์ที่ 2 รับมรดกแทนที่นายกายบิดา จำเลยที่ 3 และที่ 4รับมรดกแทนที่นางผิวมารดานอกนั้นรับมรดกในส่วนของตน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีก่อนคือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 192/2523 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์และจำเลยในคดีนั้นมีสิทธิร่วมกันในที่ดินพิพาท โดยไม่ได้วินิจฉัยหรือพิพากษาให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทให้เป็นส่วนสัดแยกจากกัน แต่คดีนี้โจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทฟ้องขอให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทให้เป็นส่วนสัดแยกจากกัน คดีก่อนกับคดีนี้จึงมีประเด็นแห่งคดีและคำขอบังคับแตกต่างกันฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ฎีกาของจำเลยที่ 3และที่ 4 ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน