คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1249/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ครอบครองที่นาพิพาท 30-40 ปี อยู่ตำบลหนึ่ง จำเลยที่ 1, 2 อยู่อีกตำบลหนึ่งไม่เคยมาเกี่ยวข้องกับที่พิพาทเลย โจทก์จำเลยที่ 1 ไปแจ้งว่าโฉนดที่พิพาทหายไป ขอใบแทน แล้วจำเลยที่ 1 รีบไปรับเอาใบแทนไปเสียก่อน แล้วจำเลยที่ 1, 2 ทำรับมรดกและทำจำนองไม่เคยขอดูหลักฐานหนังสือสำคัญว่าที่ที่รับจำนองมีเนื้อที่เท่าใดมีชื่อใครเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอยู่ และมิได้ตรวจดูสภาพของที่ที่รับจำนองก่อนว่าจะคุ้มกับจำนวนเงินหรือไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1, 2 เพื่อให้ได้มาซึ่งใบแทนโฉนด โอนรับมรดกเป็นไปในลักษณะช่วงชิงฉวยโอกาส และทำจำนองในวันเดียวกัน โดยพฤติการณ์และเหตุผลส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสามได้รู้เห็นร่วมกันมาตลอดเรื่อง อันเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทได้รับความเสียหายชอบที่ศาลจะเพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยทั้งสามเสียได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองโดยไม่ทราบว่าโฉนดที่ดินสูญหายไปเมื่อใด ปรากฏว่าที่พิพาทมีชื่อมารดาโจทก์จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์และจำเลยได้ไปแจ้งขอใบแทนโฉนด และจำเลยที่ 1 ตกลงจะโอนโฉนดให้โจทก์ แต่แล้วจำเลยที่ 1 และ 2 กลับไปขอรับโอนมรดกและทำจำนองให้แก่จำเลยที่ 3ในวันเดียวกันนั้น เป็นการกระทำไม่สุจริตทำให้โจทก์ทั้ง 2 ซึ่งอยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนเสียเปรียบ ขอให้ศาลเพิกถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองแทน และสั่งเพิกถอนการจำนองระหว่างจำเลยทั้งสาม

จำเลยที่ 1, 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์ขอซื้อที่พิพาทจากจำเลย แต่เมื่อจำเลยไปขอรับเงินค่าที่ดิน โจทก์ปิดพลิ้วจะโกงเอาที่พิพาท จำเลยที่ 1, 2 มีความจำเป็นต้องใช้เงิน จึงจำนองที่พิพาทกับจำเลยที่ 3 และได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1, 2จำเลยที่ 3 รับจำนองไว้โดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า รูปคดีเชื่อตามที่จำเลยนำสืบในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าของโฉนด จำเลยจึงได้รับข้อสันนิษฐานจากกฎหมายดีกว่าโจทก์ ให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ทั้งสองได้ครอบครองที่พิพาทมาเป็นเวลา 30 – 40 ปี โดยจำเลยไม่เคยเกี่ยวข้อง โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์โจทก์จำเลยที่ 1 ไปแจ้งเรื่องโฉนดหายและกำหนดที่จะรับใบแทนจำเลยไปช่วงชิงฉวยโอกาสไปรับใบแทนโฉนดและรับมรดกเสีย เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต การที่จำเลยหาจำนองต่อไปกับจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยทุจริต แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้รับจำนองไว้โดยล่วงรู้ถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 1, 2 พิพากษาแก้ว่าโจทก์ที่ 1, 2เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1, 2 ออกจากโฉนด ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองแทนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1, 2 ทำสัญญาจำนองโดยไม่สุจริตส่วนจำเลยที่ 3 ตามพฤติการร์ปรากฏว่า จำเลยที่ 1, 2 มากู้เงินจำเลยที่ 3เพียงครั้งเดียวก็ตกลงนัดวันไปทำสัญญาจำนองกันเลย ดูไม่สมเหตุผลพอที่จะเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำโดยบริสุทธิใจ เพราะจำนวนเงินมาก จำเลยที่ 3 ไม่สนใจที่จะขอดูหลักฐานว่าโฉนดมีชื่อใครเป็นเจ้าของ ผู้ใดครอบครองอยู่ ทั้งมิได้ตรวจดูสภาพของที่นาก่อนว่าจะคุ้มกับจำนวนเงินหรือไม่ ฐานะของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ควรที่จำเลยที่ 3 จะเชื่อถือ การกู้เงินก็ไม่ปรากฏว่าได้พูดจาตกลงกันเรื่องผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยแต่กลับไปปรากฏในสัญญาจำนอง เมื่อปรากฏว่าการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งใบแทนโฉนด โอนรับมรดกเป็นไปในลักษณะช่วงชิงฉวยโอกาสและทำจำนองในวันนั้นเองแล้ว โดยพฤติการณ์และเหตุผลส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามได้รู้เห็นร่วมกันมาตลอดเรื่องเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทได้รับความเสียหาย ชอบที่ศาลจะเพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยทั้งสามเสียได้

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้เพิกถอนสัญญาจำนองที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1, 2 กับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share