คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะนำระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519 มาใช้บังคับเพราะโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างประจำของจำเลย หากศาลฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย โจทก์ก็ไม่มีสิทธินำค่าครองชีพมารวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จ เพราะค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้างตามระเบียบดังกล่าวเป็นคำให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ที่ชัดแจ้งแล้ว ส่วนที่ว่าหากศาลฟังว่าอย่างไรนั้น เป็นการกล่าวอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาล หาใช่ยืนยันข้อเท็จจริงนั้นไม่ เป็นคำให้การที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองแล้วคดีจึงมีประเด็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบสองฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำของโรงงานกระดาษบางปะอิน ต่อมาวันที่ 22 มกราคม2531 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุยุบเลิกกิจการ จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จปกติให้แก่โจทก์ไม่ครบตามสิทธิที่โจทก์จะพึงได้รับกล่าวคือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519ที่ใช้บังคับอยู่ได้กำหนดวิธีคำนวณจ่ายบำเหน็จปกติให้แก่ลูกจ้างประจำที่ต้องออกจากงานเพราะเหตุยุบตำแหน่งหรือถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด โดยให้มีจำนวนเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีเวลาทำงาน แต่จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์โดยมิได้นำเงินค่าครองชีพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างมารวมคำนวณด้วย โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 ที่ 12 ได้รับค่าครองชีพเดือนละ 300 บาท โจทก์อื่นนอกจากนี้ได้รับค่าครองชีพเดือนละ 400 ลาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์ตามสิทธิพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันที่เลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสิบสองสำนวนให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะนำระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519 มาใช้บังคับเพราะโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างประจำของจำเลยตามระเบียบดังกล่าวโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หากศาลฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยโจทก์ก็ไม่มีสิทธินำค่าครองชีพมารวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จเพราะค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้างตามระเบียบดังกล่าวข้อ 5 ซึ่งได้บัญญัติความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า ค่าจ้างอัตราปกติตามอัตราที่กำหนดจ่ายให้สำหรับการทำงานในระยะเวลาตามปกติ และหมายความรวมถึงเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.)ด้วย หากศาลฟังว่าโจทก์มีสิทธินำค่าครองชีพมารวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 7 ก็มีอายุงานเพียง 8 ปี 7 ปี 9 ปี และ 6 ปี จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ 3,200 บาท 2,800 บาท 2,700 บาท และ 2,400บาท ตามลำดับ ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จที่ขาดให้โจทก์ทั้งสิบสอง พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสิบสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าคำให้การของจำเลยชัดแจ้ง ไม่ได้ขัดกันดังคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเพราะจำเลยได้ยื่นคำให้การในทำนองเดียวกันนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ 4896-4915/2531 ศาลก็ไม่ได้พิพากษาว่าคำให้การของจำเลยขัดกัน หรือไม่ชัดแจ้ง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำให้การขัดกันเองได้แก่คำให้การที่ยืนยันข้อเท็จจริงหลายทาง เรื่องนี้จำเลยให้การยืนยันว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลย ส่วนที่ให้การต่อไปนั้นก็เป็นการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์เป็นลำดับไป เป็นคำให้การที่ชัดแจ้งแล้วส่วนถ้อยคำตามคำให้การที่ว่าหากศาลฟังว่าอย่างไรนั้น เป็นการกล่าวอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาล หาใช่ยืนยันข้อเท็จจริงนั้น ๆ ไม่คำให้การของจำเลยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสองแล้ว แต่ปัญหาที่ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวน เห็นว่าที่จำเลยอ้างว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของสำนักงานกลางโรงงานกระดาษบางปะอินนั้นเมื่อโรงงานดังกล่าวมิใช่นิติบุคคล และโจทก์จำเลยรับกันว่าโรงงานกระดาษบางปะอินเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกรมโรงงานอุตสาหกรรมจำเลย ดังนี้จึงฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสิบสองนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share