แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยขวนขวายจะให้ได้คำรับรองเพื่อฎีกา เป็นการรับอยู่ในตัวว่าจำเลยเห็นด้วยกับศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลย เพราะต้องห้ามตามกฎหมาย กรณีจึงไม่เข้าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 ซึ่งให้ร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
เมื่อไม่ต้องด้วยบทบัญญัติให้ร้องตรงมายังศาลฎีกา อีกทั้งยังไม่มีการรับฎีกาอันจะถือได้ว่าคดีได้ขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นจำเลยก็มีแต่ทางจะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 20/2503)
ย่อยาว
คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตายและบาดเจ็บสาหัสพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 252 และ 259 ให้ลงโทษตามมาตรา 252 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 4 ปี ผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 33 ปรับ 100 บาทผิดพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 66 พระราชบัญญัติจราจร พ.ศ. 2481 มาตรา 4 ปรับ 100 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะข้อที่ศาลชั้นต้นปรับจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจร โดยให้ยกเสีย นอกนั้นให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอให้คณะผู้พิพากษาศาลเดิมหรือศาลอุทธรณ์รับรองและอนุญาตให้จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาโดยอ้างว่าเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้าม และมีคำสั่งคำร้องของจำเลยว่าไม่ใช่ปัญหาข้อสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด จึงไม่รับรองให้
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอีกนายหนึ่งซึ่งลงนามในคำพิพากษาพิจารณาคำร้องของจำเลยและถ้าผู้พิพากษานั้นไม่รับรองฎีกา ขอให้ส่งสำนวนไปให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งลงนามในคำพิพากษาตรวจคำร้องและฎีกาจำเลย
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ศาลไม่มีหน้าที่จะต้องส่งฎีกาของจำเลยไปให้ใคร ๆ รับรอง ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาศาลเดิมหรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์รับรองหรืออนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และร้องขอให้ส่งสำนวนไปให้ผู้พิพากษาตรวจรับรองนั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นฎีกา แม้จำเลยจะยื่นต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นสั่งรับหรือไม่รับฎีกาของจำเลยก็เพราะกฎหมายให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติในเรื่องนี้เพื่อให้การพิจารณาชั้นฎีกาดำเนินไปตามลำดับเท่านั้น คำร้องของจำเลยในการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นฎีกานี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งหรือปฏิบัติการไปอย่างใด ย่อมอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาว่า เป็นการชอบหรือไม่ด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาอย่างใดหากจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ก็ชอบที่จะร้องต่อศาลฎีกาโดยตรงไม่ใช่กรณีที่จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษายกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกาว่า จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยขวนขวายจะให้ได้รับคำรับรองเพื่อฎีกาเป็นการรับอยู่ในตัวว่า จำเลยเห็นด้วยกับศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยเพราะต้องห้ามตามกฎหมาย จึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยนั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ หากแต่จำเลยขวนขวายหาทางเพื่อให้ฎีกาได้ต่างหากกรณีจึงไม่เข้าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 ซึ่งให้ร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา เมื่อไม่ต้องด้วยบทบัญญัติให้ร้องตรงมายังศาลฎีกาอีกทั้งยังไม่มีการรับฎีกาอันจะถือได้ว่า คดีได้ขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ซึ่งในกรณีดังว่านี้ คู่ความอาจร้องบางเรื่องตรงต่อศาลฎีกาได้ในฐานะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาเช่นนี้ หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นจำเลยก็มีทางแต่จะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 อันเป็นวิธีการปกติ คือ ดำเนินคดีมาโดยลำดับศาล ที่ศาลอุทธรณ์ว่าไม่ใช่กรณีที่จำเลยจะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ แต่ชอบที่จะร้องต่อศาลฎีกาโดยตรงนั้นที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย เห็นว่าศาลอุทธรณ์ชอบที่จะรับอุทธรณ์นี้ไว้พิจารณาแต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นด้วยกับศาลชั้นต้นว่าเป็นเรื่องที่จำเลยควรจะไปร้องต่อผู้พิพากษาที่จะขอให้รับรองโดยตรง ไม่ใช่เรื่องจะมาขอให้ศาลจัดการให้ หรือไม่เห็นด้วยกับศาลชั้นต้น แต่เห็นเป็นประการอื่น ก็ชอบที่จะพิพากษาหรือสั่งไป แต่จะไม่รับอุทธรณ์เสียเลยนั้น หาถูกต้องไม่
พิพากษาให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปตามกระบวนความ