แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกขว้างปารถยนต์โดยสารเสียหาย และถูกผู้โดยสารบาดเจ็บ ผู้ใหญ่บ้านจับกุมโจทก์ร่วมได้แล้วมอบตัวให้จำเลยซึ่งเป็นกำนันท้องที่ที่เกิดเหตุเมื่อเวลา 1 นาฬิกา การนำตัวโจทก์ร่วมไปส่งสถานีตำรวจในคืนนั้นไม่เป็นการปลอดภัย และบ้านของจำเลยไม่มีห้องขังหรือที่ควบคุมผู้ต้องหา จำเลยจึงนำโจทก์ร่วมไปใช้โซ่ล่ามขาไว้กับเสาชานเรือนจำเลย พอรุ่งเช้าก็ปล่อยตัวไปเมื่อมีผู้มาขอรับตัว ดังนี้การกระทำของจำเลยเป็นวิธีการควบคุมเท่าที่จำเป็นเพื่อมิให้หลบหนี เป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 86 ไม่เป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกจำเลยสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยนี้ซึ่งเป็นกำนันตำบลแม่ข้าวต้มฯได้บังอาจหน่วงเหนี่ยวกักขังนายทอง โดยจำเลยนำตัวนายทองไปกักขังไว้บนบ้านจำเลย แล้วนำโซ่เหล็กล่ามขานายทองติดกับเสาเรือนทำให้นายทองปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยนี้ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลแม่ข้าวต้มฯ ได้บังอาจใช้กำลังกายชกต่อย เตะ และถีบทำร้ายร่างกายนายทองหลายที ถูกตามบริเวณร่างกายหลายแห่งไม่ถึงกับเป็นเหตุให้นายทองได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
นางทองผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 จำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391ปรับ 400 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำนวนแรกข้อหาว่าจำเลยที่ 1 หน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ร่วมให้ปราศจากเสรีภาพนั้น เห็นว่าโจทก์ร่วมถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกับพวกขว้างปารถของนายฉุกเฉิน จันทร์ชุม และถูกผู้โดยสารบาดเจ็บจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านจับกุมโจทก์ร่วมได้ที่ข้างทางที่เกิดเหตุในเวลากระชั้นชิดกับที่รถถูกขว้างปาแล้วจำเลยที่ 2 ได้มอบตัวโจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นกำนันท้องที่เกิดเหตุไปขณะนั้นเป็นเวลา 1 นาฬิกา ดึกสงัดแล้ว การที่จะให้จำเลยที่ 1 พาโจทก์ร่วมไปส่งที่สถานีตำรวจทันทีในคืนเกิดเหตุดังข้อฎีกาของโจทก์นั้น ย่อมไม่เป็นการปลอดภัยแก่ตัวโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เพราะระหว่างทางพวกของผู้เสียหายที่ถูกขว้างปารถอาจจะลอบทำร้ายโจทก์ร่วมด้วยความโกรธเคืองก็ได้ หรือพวกของโจทก์ร่วมอาจจะทำร้ายจำเลยที่ 1 เพื่อแย่งชิงเอาตัวโจทก์ร่วมคืนไปก็ได้ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 พาโจทก์ร่วมไปควบคุมไว้ที่บ้านจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้สร้างห้องขังหรือที่ควบคุมผู้ต้องหาไว้โดยเฉพาะ โดยจำเลยที่ 1 ใช้โซ่โตขนาดนิ้วก้อยผูกล่ามขาของโจทก์ร่วมไว้กับเสาชานเรือน เพื่อป้องกันมิให้โจทก์ร่วมหลบหนีในระหว่างที่จำเลยที่ 1 พักผ่อนหลับนอนพอรุ่งเช้าจำเลยที่ 1 ก็ปล่อยตัวโจทก์ร่วมไปเช่นนี้ เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้วิธีการควบคุมโจทก์ร่วมเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้หลบหนีเท่านั้น เป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 ยังไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
(สำหรับข้อหาว่าจำเลยที่ 2 ทำร้ายโจทก์ร่วมนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพยานโจทก์ยังมีความสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2)
พิพากษายืน