แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ห้ามทะเลาะวิวาทและกล่าววาจาที่ไม่สุภาพให้ร้ายต่อเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชา ป. เป็นลูกจ้างของ ว. ป. จึงไม่ใช่ลูกจ้างจำเลย และไม่ได้เป็นเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาของโจทก์ การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หากจะถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับดังกล่าว ก็ไม่ใช่กรณีร้ายแรงอันจำเลยจะเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้นเมื่อคดีไม่มีประเด็นว่า ป. เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่เพราะโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องและข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากคำเบิกความของผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยเป็นข้อเท็จจริงนอกเรื่องนอกประเด็น และไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 การที่จำเลยยกข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์อุทธรณ์ ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจาก ป. ทำงานให้แก่จำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการผิดวินัยแต่ศาลแรงงานมิได้ชี้ชัดว่า ป. เกี่ยวพันกับจำเลยในฐานะใด เพียงแต่กล่าวว่า ป. ทำงานให้แก่จำเลยแต่เมื่อโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานว่า รายงานเหตุการณ์ของแผนก GENERALAFFAIRSถึงผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.19 ถูกต้องแล้วดังนั้นเมื่อได้ความตามเอกสารดังกล่าวว่า หลังจากมีการสอบสวนพนักงานทั้งหมดแล้วแผนก GENERALAFFAIRS ได้ตักเตือนพนักงานและได้จัดการเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยให้ย้ายพนักงานไปทำงานในบริเวณที่ไกลต่อกันและกันเพื่อไม่ให้มีการทะเลาะกันอีก จึงเห็นได้ว่า การที่แผนกธุรการฝ่ายบุคคลของจำเลยสั่งย้ายพนักงานซึ่งมี ป. ลูกจ้างของว. ซึ่งเป็นผู้รับเหมาทำความสะอาดให้จำเลยรวมอยู่ด้วยนั้นถือได้แล้วว่า ป. เป็นเพื่อนร่วมงานของโจทก์เพราะโจทก์มีหน้าที่เป็นคนทำสวนของจำเลย ส่วน ป. เป็นพนักงานของผู้รับเหมาทำความสะอาดในที่ทำการของจำเลย แม้ผู้เป็น นายจ้างของโจทก์กับ ป. จะต่างคนกันก็ตาม แต่เมื่อผลของงานที่แต่ละคนดำเนินการไปนั้นตกได้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ดังนั้นเมื่อโจทก์ทำร้ายร่างกาย ป. จนได้รับอันตรายสาหัสเช่นนี้จึงผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุว่าห้ามทะเลาะวิวาทและกล่าววาจาที่ไม่สุภาพให้ร้ายต่อเพื่อนร่วมงานแล้ว เมื่อสาเหตุที่โจทก์ทำร้ายร่างกาย ป. เนื่องมาจากในระหว่างเวลาทำงาน ขณะ ป. ทำความสะอาดห้องน้ำในโรงงานของจำเลย เป็นเหตุให้น้ำกระเด็นไปถูกเสื้อผ้าของโจทก์ที่ตากไว้เปียกและสกปรก โจทก์ได้ด่าว่า ป. อย่างเสียหายและหลังจากเลิกงานแล้วยังได้ไปดักทำร้ายร่างกาย ป.นอกที่ทำการของบริษัทจำเลยอีก เมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาจากการทำงานภายในบริษัทจำเลย กรณีถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน และเมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โจทก์จงใจอุทธรณ์บิดเบือนโต้แย้งในข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานรับฟังคำเบิกความของ ช. ว่า ตามระเบียบจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานเฉพาะผู้ที่ทำงานถึงวันกำหนดจ่ายเงินโบนัส เป็นการไม่ชอบ เพราะ ช.เบิกความขัดกับระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.20 ซึ่งไม่มีการกำหนดจ่ายเงินโบนัสไว้นั้นเมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า ช. ไม่ได้เบิกความเกี่ยวโยงถึงเอกสารหมาย ล.20 ไว้เช่นนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ แม้ตามประกาศของจำเลยเรื่องการจ่ายเงินโบนัส ได้ประกาศ ก่อนที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์และข้อความในประกาศกำหนด ว่าจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานทุกคนหลังจากวันที่จำเลย เลิกจ้างโจทก์ก็ตาม คำว่า พนักงาน หมายถึง ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นลูกจ้างจำเลยอยู่ในวันกำหนดจ่ายเงินโบนัสเท่านั้นเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไปก่อนวันที่จำเลยกำหนดจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงาน และเมื่อฐานะความเป็นลูกจ้างของโจทก์ย่อมสิ้นไปก่อนถึงวันกำหนดจ่ายเงินโบนัสดังกล่าวแล้วจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทำร้ายร่างกายนางประพจน์ หล้ามูลชา โดยใช้วิธีการรุนแรง เป็นที่สะเทือนขวัญแก่พนักงานทั่วไป ถือว่าเป็นความผิดอย่างร้ายแรง โจทก์ได้ทำร้ายร่างกายนางประพจน์จริง แต่เป็นเวลาหลังเลิกงานแล้วและนอกสถานที่ทำงาน เหตุเกิดขึ้นเนื่องจากมีการทะเลาะวิวาทด่าทอซึ่งกันและกัน โจทก์มิได้กระทำความผิดดังที่จำเลยกล่าวอ้างเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์มิได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 8,741 บาทเงินประกัน 500 บาท เงินโบนัสประจำปี 10,138 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย5,562 บาท และค่าชดเชย 35,760 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า แม้เหตุทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นหลังจากเลิกงานและบริเวณนอกสถานที่ทำงาน แต่ก็มีสาเหตุมาจากในที่ทำงานซึ่งจำเลยถือเป็นการทำความผิดอย่างร้ายแรง เพราะการที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยไปก่อเหตุทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ทำให้จำเลยได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงโจทก์ได้เคยก่อเหตุวิวาททำร้ายร่างกายผู้อื่นถึง 4 ครั้งและจำเลยได้มีหนังสือตักเตือนโจทก์แล้ว โจทก์เป็นคนมีสันดานเป็นอาชญากรและมีนิสัยโหดร้ายชอบทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพราะเป็นการกระทำผิดข้อบังคับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงค่าจ้างที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยค้างจ่ายและค้างเงินประกันนั้นจำเลยได้แจ้งให้โจทก์มารับแล้ว แต่โจทก์ไม่มารับ โดยปี 2539จำเลยกำหนดจ่ายเงินโบนัสประจำปี โจทก์ได้พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยก่อนวันที่จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสประจำปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสประจำปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าความผิดตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย ข้อ 11.1(10)ระบุว่า “ห้ามทะเลาะวิวาทและกล่าววาจาที่ไม่สุภาพให้ร้ายต่อเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชา” ต้องเป็นกรณีที่โจทก์กระทำต่อลูกจ้างของจำเลยเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางประพจน์ หล้ามูลชา เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดวี.ไอ.พี.ซัพพลาย ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยและไม่ได้เป็นเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ทั้งข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้กำหนดรวมถึงการกระทำนอกบริเวณสถานที่ของจำเลยและนอกเวลาการทำงานเอาไว้ด้วย จึงไม่เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย ตามข้อบังคับดังกล่าวข้างต้น หากจะถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับดังกล่าว ก็ไม่ใช่กรณีร้ายแรงอันจำเลยจะเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น เห็นว่า คดีนี้ไม่มีประเด็นว่านางประพจน์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ โจทก์ก็มิได้กล่าวมาในฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงที่ว่านางประพจน์เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดวี.ไอ.พี.ซัพพลาย เกิดจากคำเบิกความของนายชาญ รักใคร่ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลย อันเป็นข้อเท็จจริงนอกเรื่องนอกประเด็น ไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบ เป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนนี้
ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปกล่าวคือ ถือได้หรือไม่ว่าโจทก์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า นางประพจน์มิใช่เพื่อนร่วมงานตามระเบียบข้อบังคับการทำงานเอกสารหมาย ล.20ข้อ 11.1(10) ดังกล่าวข้างต้น และเป็นพฤติการณ์ที่ไม่เปิดช่องให้โจทก์สามารถยกปัญหาเช่นว่านี้ขึ้นกล่าวในศาลแรงงานกลางได้ก่อนหน้านี้ แม้โจทก์จะไม่ได้ว่ากล่าวมาในฟ้องก็ตามนั้นศาลฎีกาพิจารณาจากคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่กล่าวไว้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากนางประพจน์ทำงานให้แก่จำเลยการกระทำของโจทก์จึงเป็นการผิดวินัยตามเอกสารหมาย ล.20ข้อ 11.1(10) ข้อวินิจฉัยส่วนนี้ศาลแรงงานกลางก็มิได้ชี้ชัดว่านางประพจน์เกี่ยวพันกับจำเลยในฐานะใดเพียงแต่กล่าวว่านางประพจน์ทำงานให้แก่จำเลยเท่านั้น แต่จะอย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่8 กรกฎาคม 2540 ว่า รายงานเหตุการณ์ของแผนก GENERAL AFFAIRSถึงผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.19 ซึ่งโจทก์ได้รับรองว่าถูกต้องแล้วนั้น ได้ความโดยสรุปว่า หลังจากมีการสอบสวนพนักงานทั้งหมดแล้ว แผนก GENERAL AFFAIRS ได้ตักเตือนพนักงานและได้จัดการเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยให้ย้ายพนักงานไปทำงานในบริเวณที่ไกลต่อกันและกันเพื่อไม่ให้มีการทะเลาะกันอีก ดังนี้ เห็นว่า การที่แผนกธุรการฝ่ายบุคคลของจำเลยสั่งย้ายพนักงานซึ่งมีนางประพจน์ลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.ไอ.พี.ซัพพลาย ผู้รับเหมาทำความสะอาดให้จำเลยรวมอยู่ด้วยนั้น น่าจะถือได้ว่านางประพจน์เป็นเพื่อนร่วมงานของโจทก์ เพราะโจทก์มีหน้าที่เป็นคนทำสวนของจำเลยส่วนนางประพจน์เป็นพนักงานของผู้รับเหมาทำความสะอาดในที่ทำการของจำเลย แม้ผู้เป็นนายจ้างของโจทก์กับของนางประพจน์ต่างคนกันก็ตาม แต่ผลของงานที่แต่ละคนดำเนินการไปนั้นตกได้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว จึงไม่เป็นการผิดแปลกแต่ประการใดที่ศาลแรงงานกลางกล่าวไว้ว่าสาเหตุเนื่องมาจากการที่นางประพจน์ทำงานให้แก่จำเลย ประกอบกับโจทก์และนางประพจน์เป็นเพื่อนร่วมงานด้วยกัน เมื่อโจทก์ทำร้ายร่างกายนางประพจน์จนได้รับอันตรายสาหัสเช่นนี้ กรณีดังกล่าวจึงเป็นการผิดวินัยตามเอกสารหมาย ล.20 ข้อ 11.1(10) และข้อ 11.4(3) แล้ว
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ด้วยว่า บริเวณที่เกิดเหตุอยู่นอกที่ทำการของบริษัทจำเลย และหลังเลิกงานแล้วนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สาเหตุเนื่องมาจากในระหว่างเวลาทำงานนางประพจน์ทำความสะอาดห้องน้ำในโรงงานของจำเลย เป็นเหตุให้น้ำกระเด็นไปถูกเสื้อผ้าของโจทก์ที่ตากไว้เปียกและสกปรกโจทก์ได้ด่าว่านางประพจน์อย่างเสียหาย หลังจากเลิกงานแล้วยังได้ไปดักทำร้ายร่างกายนางประพจน์นอกที่ทำการของบริษัทจำเลยอีก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันไปจากการทำงานภายในบริษัทจำเลย ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน ดังนี้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานกรณีร้ายแรง ตามเอกสารหมาย ล.20ข้อ 11.1(10) ข้อ 11.4(3) และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อต่อมาว่า ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนายชาญ รักใคร่ ว่าตามระเบียบจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานเฉพาะผู้ที่ทำงานถึงวันกำหนดจ่ายเงินโบนัส เป็นการไม่ชอบเพราะนายชาญเบิกความขัดกับระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.20ซึ่งไม่มีการกำหนดจ่ายเงินโบนัสไว้แต่อย่างใดนั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาคำเบิกความของนายชาญโดยตลอดแล้ว เห็นว่า นายชาญไม่ได้เบิกความเกี่ยวโยงถึงเอกสารหมาย ล.20 แต่อย่างใดจึงเป็นเรื่องที่โจทก์จงใจอุทธรณ์บิดเบือนโต้แย้งในข้อเท็จจริงศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่า ตามประกาศฉบับที่ 59/2539เรื่อง การจ่ายเงินโบนัส ได้ประกาศวันที่ 16 ธันวาคม 2539ซึ่งเป็นการประกาศก่อนที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ในวันที่20 ธันวาคม 2539 โจทก์จึงมีสิทธิรับเงินโบนัสตั้งแต่วันที่16 ธันวาคม 2539 นั้น เห็นว่า แม้ประกาศดังกล่าวได้ประกาศตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2539 ก็ตาม แต่ข้อความในประกาศกำหนดว่าจำเลยจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานทุกคนในวันที่ 27 ธันวาคม 2539คำว่า พนักงาน ย่อมหมายถึงผู้ซึ่งมีฐานะเป็นลูกจ้างจำเลยอยู่ในวันกำหนดจ่ายเงินโบนัส เมื่อได้ความว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2539 ฐานะความเป็นลูกจ้างของโจทก์ก็ย่อมสิ้นไปก่อนถึงวันกำหนดจ่ายเงินโบนัส จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์
พิพากษายืน