คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658(2) มิได้บัญญัติว่ากรมการอำเภอต้องจดข้อความในพินัยกรรมด้วยตนเอง ปลัดอำเภอผู้ทำหน้าที่กรมการอำเภอตามมาตรานี้ย่อมใช้ให้คนอื่นจดแทนได้ ส่วนอนุมาตรา 4 ของมาตรานี้ที่ว่าให้กรมการอำเภอจดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่าพินัยกรรมนั้นได้ทำขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติอนุมาตรา 1 ถึง 3 นั้น เมื่อพินัยกรรมมีข้อความดังกล่าวเป็นตัวอักษรแบบพิมพ์ และปลัดอำเภอก็ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญท้ายข้อความนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นข้อความที่ปลัดอำเภอจดลงไว้ด้วยตนเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางประกอบ หนูนิมิตร ป้าของโจทก์ได้แต่งงานอยู่กินกับจำเลยเมื่อประมาณ ๓๐ ปีเศษมานี้ ไม่มีบุตรด้วยกันนางประกอบมีสินเดิมฝ่ายเดียว ระหว่างอยู่กินด้วยกันนางประกอบซื้อที่ดินโฉนดที่ ๒๓๗๒ เนื้อที่ ๒ ไร่ ๓ งาน ๖๘ ตารางวา ลงชื่อนางประกอบและจำเลยเป็นเจ้าของและได้จำนองไว้กับผู้อื่น นางประกอบตายแล้ว ก่อนตายได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดที่ ๒๓๗๒ ให้โจทก์ พินัยกรรมนี้จึงสมบูรณ์เฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินของนางประกอบ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ ๒๓๗๒ ครึ่งหนึ่งให้จำเลยแบ่งให้ ถ้าไม่ตกลงกันในการกำหนดเขตก็ให้นำออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้จำนองก่อนเหลือเท่าใดให้แบ่งกัน
จำเลยให้การว่า จำเลยกับนางประกอบแต่งงานกันเมื่อประมาณ ๓๗ ปีมาแล้ว นางประกอบไม่มีสินเดิม จำเลยมีสินเดิมคือเรือน ๑ หลังราคา ๒๐๐ บาท ที่ดินโฉนดที่ ๒๓๗๒ นั้นจำเลยกับนางแปลงได้รับมรดกจากนางปริก ต่อมานางแปลงยกส่วนของนางแปลงให้จำเลย จำเลยจึงลงชื่อนางประกอบเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลย พินัยกรรมที่นางประกอบทำไว้ไม่สมบูรณ์และเป็นโมฆะ และนางประกอบไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินเกินกว่าส่วนที่นางประกอบมีอยู่เพียง ๑ ใน ๓
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ตามพินัยกรรมในที่ดินพิพาท ๑ ใน ๓ ส่วนให้จำเลยแบ่งให้โจทก์ ถ้าแบ่งกันเองไม่ได้ให้ประมูลระหว่างกันเอง ถ้ายังไม่ตกลงกันอีกก็ให้ขายทอดตลาดแบ่งกัน
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่านางประกอบไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งแปลงอันมิใช่เป็นของนางประกอบแต่ผู้เดียวให้แก่โจทก์นั้นเมื่อนางประกอบเป็นเจ้าของอยู่บางส่วนพินัยกรรมของนางประกอบจึงสมบูรณ์เฉพาะส่วนในที่ดินอันเป็นของนางประกอบ
ที่จำเลยฎีกาว่า พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง นายโสภณปลัดอำเภอผู้ทำพินัยกรรมมิได้เป็นผู้เขียนเอง ข้อความรับรองว่าพินัยกรรมทำขึ้นถูกต้องตามอนุมาตรา ๑ ถึง ๓ ของมาตรา ๑๖๕๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นายโสภณก็มิได้เป็นผู้เขียนเองนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๘ อนุมาตรา ๒ มิได้บัญญัติว่ากรมการอำเภอต้องจดข้อความในพินัยกรรมด้วยตนเอง ฉะนั้น นายโสภณย่อมใช้ให้คนอื่นจดแทนได้ ส่วนมาตรา ๑๖๕๘ อนุมาตรา ๔ ที่บัญญัติไว้ให้กรมการอำเภอจดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่าพินัยกรรมนั้นได้ทำขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติอนุมาตรา ๑ ถึง ๓ นั้น เห็นว่าเมื่อมีข้อความดังกล่าวเป็นตัวอักษรแบบพิมพ์และนายโสภณก็ได้ลงลายมือชื่อประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญท้ายข้อความนี้ จึงถือได้ว่าเป็นข้อความที่นายโสภณจดไว้ด้วยตนเองพินัยกรรมนี้จึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ปัญหาต่อไปมีว่า นางประกอบมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทถึงครึ่งหนึ่งหรือไม่ ศาลฎีกาฟังว่านางประกอบและจำเลยต่างมีสินเดิมและอยู่กินเป็นสามีภริยากันมาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ การคิดส่วนแบ่งอันเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนางประกอบจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย กล่าวคือจำเลยได้ ๒ ส่วน นางประกอบได้ ๑ ส่วน ส่วนของนางประกอบตกได้แก่โจทก์ตามพินัยกรรม
พิพากษายืน

Share