คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1242/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้ฟ้องบังคับจำนอง ต่อมาเจ้าหนี้ลูกหนี้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยลูกหนี้ยอมชำระเงินให้เจ้าหนี้ ศาลพิพากษาตามยอม แม้สัญญายอมจะระบุให้คดีเป็นอันเลิกกันก็ตาม ก็หมายความได้แต่เพียงว่ายังไม่ขอบังคับตามสัญญาจำนองเท่านั้น หาใช่เป็นการปลดจำนองไม่ ฉะนั้น เมื่อลูกหนี้ผิดสัญญายอม มีการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้อื่นย่อมไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยหนี้ได้

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยบังคับจำนองที่ดินให้จำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ย มิฉะนั้นก็ขอให้สั่งขายทอดตลาด ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาล โดยจำเลยยอมใช้เงินให้โจทก์ ๒๓,๖๓๐ บาท ภายใน ๓ เดือน ศาลจึงพิพากษาตามยอม ต่อมาจำเลยไม่ชำระเงิน โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ยึดที่ดินที่จำเลยจำนองออกขายทอดตลาด และโจทก์เป็นผู้ซื้อได้ราคา ๒๒,๒๐๐ บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยหนี้โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่ง
โจทก์คัดค้าน
ศาลชั้นต้นเห็นว่า แม้จะมีสัญญาประนีประนอมยอมความกันก็จริง แต่ตราบใดที่จำเลยยังไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะถือสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ได้ หนี้ตามสัญญากู้ของโจทก์ยังหาระงับสิ้นไปไม่ สัญญาจำนองไม่ระงับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาจำนองมีบัญญัติไว้ในมาตรา ๗๔๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บทที่จะนำมาปรับในคดีนี้ คือ ความในอนุมาตรา ๒ ว่า “เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ” สัญญาประนีประนอมความความที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อศาล หามีข้อความโจทก์ปลดจำนองให้แก่จำเลยไม่ แม้จะมีข้อความว่า “และให้คดีเป็นอันเลิกกัน” ก็หมายความได้แต่เพียงว่า ยังไม่ขอบังคับตามสัญญาจำนองซึ่งประกันหนี้การกู้ยืมรายนี้เท่านั้น หาใช่การปลดจำนองตามมาตรา ๗๔๔(๒) ไม่ จึงไม่เป็นการสละสิทธิเรียกร้องการบังคับจำนองระงันสิ้นไปตามมาตรา ๘๕๒ เงินที่ขายทอดตลาดได้ยังไม่คุ้มเงินต้นและดอกเบี้ยที่จำนองครอบถึง ที่ศาลล่างพิพากษาต้องกันมาให้ยกคำร้องขอเฉลี่ยของผู้ร้องชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share