คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12414/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 173 บัญญัติว่า เมื่อศาลได้รับคำฟ้องแล้ว… (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น… ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ฟ้องโจทก์จะเป็นฟ้องซ้อนได้นั้นในเบื้องต้นโจทก์ในคดีแรกและโจทก์ในคดีหลังต้องเป็นโจทก์คนเดียวกัน รวมถึงบุคคลที่ไม่เคยยื่นฟ้องแต่อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับโจทก์ เช่นเจ้าของรวมฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์อันเป็นกรรมสิทธิ์รวม และคำว่าโจทก์รวมถึงคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาขอให้จำเลยใช้หรือคืนราคาทรัพย์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 เป็นต้น หลักเกณฑ์อีกประการหนึ่งคือ เรื่องที่นำมาฟ้องในคดีหลังยังต้องเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีแรกด้วย
พนักงานอัยการเคยฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 เรียกค่าเสียหายในส่วนต้นเงินแทนผู้เสียหายคืนให้โจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2333-2336/2541 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ไปแล้ว แต่พนักงานอัยการไม่ได้ขอเรียกดอกเบี้ยมาด้วย เนื่องจาก ป.วิ.อ. มาตรา 43 บังคับให้พนักงานอัยการฟ้องเรียกได้แค่เฉพาะต้นเงินเท่านั้น สภาพไม่เปิดช่องให้เรียกดอกเบี้ย จึงเห็นได้โดยชัดแจ้งว่า ในคดีแรกยังไม่มีการฟ้องเรียกเงินดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวนี้มาก่อน และไม่ใช่ค่าเสียหายที่พนักงานอัยการสามารถฟ้องเรียกได้แล้วไม่เรียก การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 เรียกเงินต้นและดอกเบี้ยในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2333-2336/2541 คำฟ้องของโจทก์คดีนี้ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2333-2336/2541 ของศาลอาญากรุงเทพใต้แต่เฉพาะต้นเงินเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยไม่เป็นฟ้องซ้อนด้วย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2547)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า สำนักงานฌาปนกิจสงเคราะห์กองทัพบกหรือกองการฌาปนกิจเป็นหน่วยงานหนึ่งในกรมสวัสดิการทหารบกของโจทก์ มีหน้าที่เก็บเงินสงเคราะห์ที่เรียกเก็บจากสมาชิก ดูแลรักษาเงินสงเคราะห์และจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ผู้รับเงินสงเคราะห์หรือผู้จัดการศพเมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งหกซึ่งทำงานเป็นข้าราชการและลูกจ้างของโจทก์ ได้อาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ ร่วมกันปลอมเอกสารราชการกองการฌาปนกิจ กรมสวัสดิการทหารบก เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพของสมาชิกฌาปนกิจ โดยเสนอเรื่องปะปนรวมไปกับเอกสารการขออนุมัติเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพรายอื่นที่ถูกต้อง การกระทำของจำเลยทั้งหกดังกล่าวทำให้ผู้มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพให้แก่สมาชิกฌาปนกิจกองทัพบกแทนโจทก์หลงเชื่อ การที่จำเลยทั้งหกกระทำการโดยทุจริตดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินคืนจำนวน 243,514.71 บาท (ที่ถูก 243,524.71 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 143,760.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันรับผิดชดใช้เงินคืนจำนวน 51,150,330.92 บาท (ที่ถูก 51,150,330.77 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 35,159,475.80 บาท (ที่ถูก 35,207,587 บาท) นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 51,393,845.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 35,303,236.30 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ป.วิ.พ. มาตรา 173 บัญญัติว่า เมื่อศาลได้รับคำฟ้องแล้ว…(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น… ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ฟ้องโจทก์จะเป็นฟ้องซ้อนได้นั้นในเบื้องต้นโจทก์ในคดีแรกและโจทก์ในคดีหลังต้องเป็นโจทก์คนเดียวกัน ซึ่งคำว่าโจทก์นี้รวมถึงบุคคลที่ไม่เคยยื่นฟ้องแต่อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับโจทก์ เช่น เจ้าของรวมฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์อันเป็นกรรมสิทธิ์รวม และคำว่าโจทก์รวมถึงคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ขอให้จำเลยใช้หรือคืนราคาทรัพย์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 เป็นต้น หลักเกณฑ์อีกประการหนึ่งคือ เรื่องที่นำมาฟ้องในคดีหลังยังต้องเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีแรกด้วย กล่าวคือ มูลเหตุที่มาแห่งคดีต้องอาศัยหลักแหล่งแห่งข้อหาอย่างเดียวกัน ในกรณีเรียกค่าเสียหายในเรื่องเดียวกัน โจทก์จะต้องฟ้องเรียกมาในคราวเดียวกัน จะมาฟ้องเพิ่มในภายหลังเป็นอีกคดีหนึ่งไม่ได้ถึงแม้โจทก์จะสงวนสิทธิไว้ก็ตาม สำหรับคดีนี้เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าพนักงานอัยการจะฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนต้นเงินแทนผู้เสียหายคืนให้โจทก์ในคดีอาญาไปแล้วก็ตาม แต่การที่พนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้ขอเรียกดอกเบี้ยมาด้วยนั้น ก็เนื่องมาจาก ป.วิ.อ. มาตรา 43 บังคับให้พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องเรียกได้แค่เฉพาะต้นเงินเท่านั้น สภาพไม่เปิดช่องให้เรียกดอกเบี้ย จึงเห็นได้โดยชัดแจ้งว่า ในคดีแรกยังไม่มีการฟ้องเรียกเงินดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวนี้มาก่อน และไม่ใช่ค่าเสียหายที่พนักงานอัยการโจทก์สามารถฟ้องเรียกได้แล้วไม่เรียก ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2333-2336/2541 ของศาลอาญากรุงเทพใต้แต่เฉพาะต้นเงินเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยไม่เป็นฟ้องซ้อนด้วย ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2333-2336/2541 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ทั้งหมดนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ย ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมให้รวมสั่งเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา.

Share