คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เบี้ยปรับถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายจำนวนหนึ่ง อันอาจมีหรือเกิดขึ้นเนื่องจากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ทั้งคู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าในสัญญาเพื่อให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาชดใช้ให้แก่ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญา แต่ก็มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าจะต้องเป็นไปตามนั้น ฉะนั้นศาลจึงอาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญานั้นลงได้ โดยพิจารณาถึงทางได้เสียของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งรับราชการครู ได้รับทุนของรัฐบาลไปศึกษาต่างประเทศ ได้ทำสัญญารับทุนกับโจทก์ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจำเลยกลับมารับราชการใช้ทุนไม่ครบกำหนดเวลาตามสัญญา จึงฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินทุนและเบี้ยปรับตามสัญญา กับให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน 574,991.68 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ก็ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับทุนของรัฐบาลให้ไปศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีข้อสัญญาตกลงกับโจทก์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ที่ได้รับทุนดังกล่าวว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้ว จะรับราชการชดใช้เป็นเวลาสองเท่าของเวลาที่จำเลยที่ 1 ศึกษาอยู่ต่างประเทศ หากผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จะรับผิดชดใช้เงินทุนคืน กับชดใช้เบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนเงินทุนที่ต้องคืนแก่โจทก์ โดยที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ได้ไปศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศเป็นเวลา1,820 วัน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้เข้ารับราชการเพียง 880 วัน แล้วถูกไล่ออกจากราชการเนื่องจากละทิ้งหน้าที่อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่านอกจากจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้เงินทุนคืนเป็นเงิน383,327.79 บาท กับชำระเบี้ยปรับส่วนหนึ่งเป็นเงิน 191,663.89บาท รวมเป็นเงิน 574,991.68 บาท ให้โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามจำนวนเงินทุนที่ต้องคืนโจทก์ซึ่งเป็นเงินอีกจำนวน 191,663.89 บาท แก่โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายจำนวนหนึ่งอันอาจมีหรือเกิดขึ้นเนื่องจากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ทั้งคู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าในสัญญาเพื่อให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาชดใช้ให้แก่ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญา ซึ่งจะต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก ที่บัญญัติไว้ว่า’ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้…’ แสดงว่าเบี้ยปรับนั้นแม้จะได้กำหนดกันไว้ในสัญญา แต่ก็มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าจะต้องเป็นไปตามนั้น ศาลอาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญานั้นลงได้โดยพิจารณาถึงทางได้เสียของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายสำหรับกรณีของโจทก์เพียงแต่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต้องคืนเงินทุนและชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ตามสัญญา ไม่ปรากฏจากที่โจทก์นำสืบว่า การที่จำเลยที่1 ผิดสัญญานั้น โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือเบี้ยปรับที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินทุนที่จำเลยต้องใช้คืนโจทก์ชอบแล้ว ไม่มีเหตุให้แก้ไขเป็นอย่างอื่นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share