คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12377/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน ตามคำขอเอาประกันภัยรถยนต์ ระบุว่า อ. ขอเอาประกันภัยรถยนต์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 โดยมีความประสงค์ให้กรมธรรม์มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 แม้ตามกรมธรรม์จะระบุวันทำสัญญาประกันภัยวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 แต่การที่โจทก์ยินยอมระบุให้ระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 สิ้นสุดวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ตามคำขอเอาประกันภัยของ อ. ถือได้ว่าเป็นคำสนองตอบรับคำเสนอตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 สัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นและมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 สัญญาหาได้เกิดขึ้น ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 ไม่ เมื่อเหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2551 จึงเกิดขึ้นในระยะเวลาประกันภัย ส่วนการออกกรมธรรม์ประกันภัยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2551 เป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อการฟ้องร้องบังคับคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 867 วันที่ออกกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเวลาภายหลังจากที่สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายในระยะเวลาที่สัญญาประกันภัยมีผลบังคับและโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อรถยนต์แล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์ 118,391 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 112,754 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 112,754 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 5,637 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จึงต้องถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟังว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก 0147 ลำปาง (ป้ายแดง) ไว้จากนางสาวอารีรัตน์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2551 จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน บน 1621 ลำปาง ออกจากช่องทางด่วนเลี้ยวซ้ายตัดหน้ารถยนต์ที่นางสาวอารีรัตน์ขับมาในทางคู่ขนาน รถยนต์ทั้งสองคันชนกันโดยเหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ไม่รอให้รถทางตรงแล่นผ่านไปก่อน อุบัติเหตุดังกล่าวทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายหลายรายการโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยดำเนินการจัดซ่อมรถยนต์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว
การที่จำเลยฎีกาว่า นางสาวอารีรัตน์ขับรถฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 70 และ 71 (1) ไม่ลดความเร็วของรถลงเมื่อถึงทางร่วมทางแยกและไม่ได้ดูรถด้านขวาหรือหยุดรถให้รถของจำเลยเลี้ยวซ้ายผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อน นางสาวอารีรัตน์ซึ่งเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎหมายย่อมต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นฝ่ายทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้ เป็นการไม่ชอบ และฎีกาว่า ค่าใช้จ่ายในการลากจูงรถ 1,500 บาท เพื่อนำรถไปยังสถานีตำรวจไม่ได้เกี่ยวกับการนำรถไปซ่อม ศาลชั้นต้นกำหนดค่าลากจูงให้โจทก์เป็นการไม่ถูกต้อง ซึ่งจำเลยอุทธรณ์คัดค้านไว้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้วินิจฉัยข้อคัดค้านตามอุทธรณ์ของจำเลยนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่า โดยวิสัยและพฤติการณ์ขณะเกิดเหตุนางสาวอารีรัตน์ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอแล้ว เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียว และในส่วนของค่าเสียหาย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า โจทก์มีผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความถึงค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายรถ ค่าซ่อมและค่าอะไหล่ จำเลยไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายมานั้นชอบแล้ว เนื้อหาตามฎีกาของจำเลยที่อ้างในทำนองว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ได้หยิบยกอุทธรณ์ของจำเลยมาพิจารณานั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดค่าเสียหายของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ได้ให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยไว้แล้ว จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิรับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัยหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ออกกรมธรรม์ประกันภัยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2551 ถือเป็นคำสนองรับประกันภัย สัญญาประกันภัย จึงเกิดขึ้นในวันดังกล่าว เหตุคดีนี้เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิเรียกร้องต่อโจทก์ การที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิได้นั้นเห็นว่า สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกันตามคำขอเอาประกันภัยรถยนต์ ระบุว่านางสาวอารีรัตน์ขอเอาประกันภัยรถยนต์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 โดยมีความประสงค์ให้กรมธรรม์ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 แม้ตามกรมธรรม์จะระบุวันทำสัญญาประกันภัยวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 แต่การที่โจทก์ยินยอมระบุให้ระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 สิ้นสุดวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ตามคำขอเอาประกันภัยของนางสาวอารีรัตน์ถือได้ว่าเป็นคำสนองตอบรับคำเสนอตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 สัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นและมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 สัญญาหาได้เกิดขึ้น ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยไม่ เมื่อเหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2551 จึงเกิดขึ้นในระยะเวลาประกันภัย ส่วนการออกกรมธรรม์ประกันภัยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2551 เป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อการฟ้องร้องบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วันที่ออกกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเวลาภายหลังจากที่สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายในระยะเวลาที่สัญญาประกันภัยมีผลบังคับและโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อรถยนต์แล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้นดังกล่าวโดยให้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบเพื่ออาจใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาได้ก็ไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด จึงไม่สมควรแก้ไข
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share