คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12335/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่า ผู้คัดค้านไม่ยึดทรัพย์ตามที่โจทก์นำชี้ และหลอกลวงให้คำแนะนำในการบังคับคดี จนหลงเชื่อทำคำร้องขอให้ศาลเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้คัดค้าน และถูกศาลยกคำร้องทำให้โจทก์ต้องเสียหาย ขอให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 283 วรรคสอง อันเป็นข้ออ้างให้ผู้คัดค้านในฐานะเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่ของผู้คัดค้านตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 แต่เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ โดยไม่มีบทมาตราใดยกเว้นมิให้ใช้บังคับแก่กรณีใด และมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติอีกว่า “บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับใด ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน” ดังนี้ หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นต้นสังกัดของผู้คัดค้านจึงต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงต้องห้ามมิให้เรียกร้องเอาแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีแต่ต้องเรียกร้องเอาแก่หน่วยงานของรัฐนั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับผิดตามตั๋วเงินศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ออกหมายเรียกผู้คัดค้านมาไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 283 วรรคสอง และให้ชดใช้เงินแก่โจทก์เท่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้คัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 40,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์กับผู้คัดค้านอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่ผู้คัดค้านจะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางเยี่ยมจรรย์ บุตรของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (14) ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความก็ตาม แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีรับผิดชอบโดยตรงต่อโจทก์ ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้คัดค้านชดใช้เงินแก่โจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่า ผู้คัดค้านไม่ยึดทรัพย์ตามที่โจทก์นำชี้ และหลอกลวงให้คำแนะนำในการบังคับคดี จนหลงเชื่อทำคำร้องขอให้ศาลเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้คัดค้าน และถูกศาลยกคำร้องทำให้โจทก์ต้องเสียหาย ขอให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 283 วรรคสอง อันเป็นข้ออ้างให้ผู้คัดค้านในฐานะเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่ของผู้คัดค้านตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แม้ตามมาตรา 283 วรรคสอง ดังกล่าว บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้นั้นตกอยู่ในความรับผิดจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม แต่เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้” โดยไม่มีบทมาตราใดยกเว้นมิให้ใช้บังคับแก่กรณีใด และตามมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติอีกว่า “บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับใด ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน” และผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี สังกัดกรมบังคับคดี อันเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ดังนี้ หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นต้นสังกัดของผู้คัดค้านจึงต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่โจทก์จึงต้องห้ามมิให้เรียกร้องเอาแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีแต่ต้องเรียกร้องเอาแก่หน่วยงานของรัฐนั้น ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ยกคำร้องดังกล่าวของโจทก์จึงชอบด้วยผลแล้ว คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share