คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมพ.ศ.2517มาตรา44มิได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้เจ้าของที่ดินหรือผู้ที่ได้รับสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินโอนสิทธิในที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นเจ้าของที่ดินหรือผู้ที่ได้รับสิทธิในที่ดินยังอยู่ในวิสัยที่จะโอนสิทธิในที่ดินภายในกำหนดเวลาห้ามโอนให้แก่ผู้อื่นได้หากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางดังนั้นสัญญาจะซื้อขายที่ดินซึ่งโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยว่าโจทก์จะโอนที่ดินให้แก่จำเลยเมื่อได้รับอนุญาตจากทางราชการจึงไม่ใช่สัญญาที่กระทำลงโดยมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมายสัญญาดังกล่าวมีผลสมบูรณ์บังคับกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์และให้จำเลยชดใช้ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 20,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามฟ้องกับโจทก์และมิได้ผิดสัญญา จำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้บุคคลภายนอก โดยรับเงินมัดจำไว้แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยทำให้ขาดกำไรที่จะได้ ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จและให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนโดยจำเลยจะชำระค่าที่ดินที่เหลือ 547,000 บาท แก่โจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยตามฟ้องแย้งของจำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้องโจทก์ และ ยกฟ้อง แย้ง
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ และ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2532จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับโจทก์ในราคา 840,000 บาทในวันทำสัญญาผู้ซื้อวางมัดจำไว้เป็นเงิน 200,000 บาท เงินที่เหลือจะชำระหมดภายในปี 2532 ผู้ซื้อเป็นผู้ถือโฉนดที่ดินแปลงพิพาทไว้และจะโอนโฉนดเมื่อทางการอนุญาตในวันที่ 4 พฤษภาคม 2533และวินิจฉัยปัญหาว่า สัญญาจะซื้อขายที่ดินนี้ได้กระทำลงโดยมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ว่า มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 บัญญัติว่า”ภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน เจ้าของที่ดินหรือผู้ที่ได้รับสิทธิในที่ดินจะโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่ เมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการการจัดรูปที่ดินกลาง”ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากฎหมายมิได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้เจ้าของที่ดินหรือผู้ที่ได้รับสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินโอนสิทธิในที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เจ้าของที่ดินหรือผู้ที่ได้รับสิทธิในที่ดินยังอยู่ในวิสัยที่จะโอนสิทธิในที่ดินภายในกำหนดเวลาห้ามโอนให้แก่ผู้อื่นได้หากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง ดังนั้น สัญญาจะซื้อขายที่ดินตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยว่าโจทก์จะโอนที่ดินให้แก่จำเลยเมื่อได้รับอนุญาตจากทางราชการ จึงไม่ใช่สัญญาที่กระทำลงโดยมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมายสัญญาดังกล่าวมีผลสมบูรณ์บังคับกันได้
ส่วนปัญหาว่า จำเลยมีสิทธิฟ้องแย้งให้โจทก์โอนโฉนดที่ดินพิพาทก่อนวันที่ 4 พฤษภาคม 2533 เพราะโจทก์กับจำเลยได้ตกลงกันใหม่ว่าจะโอนโฉนดทันทีในปี 2532 และทางราชการได้อนุญาตให้โอนที่ดินพิพาทได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2532 เป็นต้นไปแล้วนั้น วินิจฉัยว่าฎีกาของจำเลยนี้เป็นข้อเท็จจริงนอกคำให้การของจำเลย ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ส่วน ฎีกา ของ จำเลย ให้ยก

Share