แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อบังคับเกี่ยวกับการลาของผู้ร้อง และมาตรา 102แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่บัญญัติใจความทำนองเดียวกันว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาไปเพื่อดำเนินกิจการสหภาพแรงงานในฐานะผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาและมีสิทธิลาเพื่อไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ ทั้งนี้ให้ลูกจ้างดังกล่าวแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาโดยชัดแจ้งพร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องถ้ามี และให้ถือว่าวันลาของลูกจ้างนั้นเป็นวันทำงานมีความหมายว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ โดยลูกจ้างเพียงแต่แจ้งพร้อมแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุการลาและไม่จำต้องให้นายจ้างอนุมัติก่อน เมื่อผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้างและเป็นเหรัญญิกของสหภาพแรงงาน ได้รับเชิญในตำแหน่งเหรัญญิกของสหภาพแรงงานให้ไปประชุมของส่วนราชการ และสหภาพแรงงานได้แจ้งการลาให้ผู้ร้องทราบแล้ว แม้ผู้ร้องมิได้อนุมัติก่อน ก็ถือว่าผู้คัดค้านได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานของผู้ร้องและชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตศาลลงโทษนายบุญยัง วงษ์แสงกรรมการลูกจ้างโดยการเลิกจ้างและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนายบุญยัง วงษ์แสง ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง เป็นเหรัญญิกของสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์แก้วแห่งประเทศไทย วันที่ 2 ตุลาคม 2534 สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนาได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นส่วนราชการจัดการสัมมนาขึ้น ผู้คัดค้านมีสิทธิลาไปประชุมในกิจการของสหภาพแรงงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อ 50.3 และตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งกำหนดให้ลูกจ้างที่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาไปเพื่อประชุมตามที่ทางราชการกำหนด เพียงแต่ลูกจ้างแจ้งให้นายจ้างทราบถึงเหตุการลาล่วงหน้าการลาก็มีผลแล้ว ไม่ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติ ฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านกระทำผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ได้กล่าวเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และฟังว่าผู้คัดค้านได้ไปประชุมจริง การเดินทางไปประชุมสัมมนาจะต้องมีการเตรียมตัวและจะต้องไปให้ถึงก่อนกำหนดเพื่อลงทะเบียนและรับบัตร ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้ใช้เวลาดังกล่าวเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือทำกิจการอื่นโดยทุจริต ไม่ถือว่าเป็นการขาดงานละทิ้งหน้าที่ จึงไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ร้องเลิกจ้างให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องอุทธรณ์ข้อแรกว่าผู้คัดค้านลาไปประชุมวันที่ 2 ตุลาคม 2534 ซึ่งผู้ร้องไม่อนุมัติแต่ผู้คัดค้านได้ประชุมในวันดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลาซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 102 นั้น เห็นว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการลาของผู้ร้อง ข้อ 50.3และมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518บัญญัติไว้ใจความทำนองเดียวกันว่า “ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาไปเพื่อดำเนินกิจการสหภาพแรงงานในฐานะผู้แทนลูกจ้างในการเจรจา…และมีสิทธิลาเพื่อไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ ทั้งนี้ให้ลูกจ้างดังกล่าวแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาโดยชัดแจ้งพร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องถ้ามี และให้ถือว่าวันลาของลูกจ้างนั้นเป็นวันทำงาน” ซึ่งข้อบังคับและบทกฎหมายดังกล่าวมีความหมายว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน มีสิทธิลาเพื่อไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้โดยลูกจ้างเพียงแต่แจ้งพร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุการลาเท่านั้น ไม่จำต้องให้นายจ้างอนุมัติก่อนแต่อย่างใด มิฉะนั้นแล้วบทบัญญัติดังกล่าวจะไร้ผลบังคับหากให้เป็นไปตามอำเภอใจของนายจ้าง เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้างและเป็นเหรัญญิกของสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์แก้วแห่งประเทศไทย ผู้คัดค้านได้รับเชิญในตำแหน่งเหรัญญิกของสหภาพแรงงานให้ไปประชุมตามเอกสารหมาย ร.3ซึ่งเป็นการประชุมของส่วนราชการ และสหภาพแรงงานดังกล่าวได้แจ้งการลาไปประชุมให้ผู้ร้องได้รับทราบตามเอกสารดังกล่าวแล้วการที่ผู้คัดค้านได้ไปประชุมในวันดังกล่าวโดยแม้ผู้ร้องจะมิได้อนุมัติก่อนก็ตาม ก็ถือว่าผู้คัดค้านได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานของผู้ร้อง และชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวแล้ว ทั้งไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน