คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1230/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาเหตุเกิดและอยู่ในระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนก่อนใช้ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ พ.ศ.2499 อัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องในศาลแขวงก่อน
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดกว่ากฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 306 เพราะกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา306 มีกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำและอัตราปรับอย่างต่ำเป็นบทบังคับไว้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานสมคบกันฉ้อโกง และขอให้จำเลยใช้ราคาเงินแท่ง 29,917 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2499

จำเลยทั้งสามปฏิเสธ

ศาลอาญาพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทุกคนมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 304, 306 และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 342 ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342ซึ่งเป็นบทหนัก ตามมาตรา 90 และเป็นคุณแก่จำเลย โดยให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี กับให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 29,917 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นชอบด้วยศาลชั้นต้นในข้อที่พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดและวางโทษจำเลยมานั้น เว้นแต่ในข้อที่ศาลชั้นต้นอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาบังคับแก่คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะคดีนี้เกิดก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา ทั้งกฎหมายลักษณะอาญา (เดิม) มาตรา 306 ก็มีอัตราโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 100 บาท ถึง 5,000 บาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 จึงไม่มีส่วนเป็นคุณแก่จำเลยคดีนี้อย่างใด พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอาญาเฉพาะบทลงโทษ โดยให้ใช้กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 306 บังคับแก่คดีนี้นอกจากที่แก้แล้วให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอาญา

จำเลยที่ 2-3 ฎีกา

คดีคงมาสู่ศาลฎีกาแต่เฉพาะปัญหากฎหมาย 2 ข้อ

ในประการต้นที่จำเลยค้านว่า ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์เพราะไม่ปรากฏว่าได้มีการไต่สวนมูลฟ้องในศาลแขวงมาก่อน ข้อนี้ปรากฏว่าเหตุเรื่องนี้เกิดและอยู่ระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนก่อนใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ พ.ศ. 2499 อัยการโจทก์จึงมีอำนาจดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องดังจำเลยโต้แย้งมา

ส่วนข้อที่จำเลยค้านว่า บทกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์อ้างมาลงโทษจำเลยไม่ถูกต้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องนี้ แม้จะเกิดก่อนใช้ประมวลกฎหมายอาญาก็ดี แต่เมื่อพิจารณาบทลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 306 เปรียบเทียบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 แล้วจะเห็นได้ว่า กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 306 มีกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำและอัตราปรับอย่างต่ำเป็นบทบังคับไว้ด้วย จึงเป็นบทลงโทษที่หนักกว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 ดังนี้ จึงต้องใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 342 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมาปรับกับความผิดในเรื่องนี้อย่างที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษามาแล้ว

พิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์โดยพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกประการ

Share