คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 123/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เหตุเกิดเวลากลางคืน สถานที่เกิดเหตุอยู่ใต้ ต้นไม้ใหญ่และเป็นบริเวณที่รก มีข้อสงสัยเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องแสงสว่างว่าบริเวณที่เกิดเหตุจะมีแสงสว่างไม่พอเพียงที่จะทำให้เห็นคนร้ายชัดเจน พอจำได้ เหตุการณ์ชิงทรัพย์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาไม่ถึง10 วินาที หลังจากเกิดเหตุก่อนการจับกุมจำเลยผู้เสียหายเคยพบเห็นจำเลย และใช้เวลาสังเกตุ อยู่หลายวันจึงแน่ใจว่าจำเลยเป็นคนร้ายและแจ้งให้ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย พยานหลักฐานโจทก์จึงเป็นที่สงสัยว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่ จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีอีก 1 คน ได้ร่วมกันชิงทรัพย์เครื่องเล่นวิทยุเทป จำนวน 1 เครื่อง เทปเพลงไทย 4 ม้วนวัสดุทองเหลืองรูปช้าง 2 ตัว วัสดุทองเหลืองรูปสิงห์ 1 ตัววัสดุทองเหลืองรูปเต่า 1 ตัว กางเกงยีน 1 ตัว รวมราคาทรัพย์ 830 บาทของนายบุญธรรม ผมทอง ผู้เสียหายไปขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์รวมราคา 830 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ โดยมีอาวุธในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสองประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุก 12 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์รวมราคา 830 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาในชั้นนี้ว่า จำเลยได้ร่วมกับพวกอีกคนหนึ่งชิงทรัพย์ผู้เสียหายตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีประจักษ์พยานคือผู้เสียหายเบิกความอันมีรายละเอียดตามทางนำสืบของโจทก์ข้างต้น กล่าวโดยย่อคือผู้เสียหายเบิกความถึงเหตุการณ์ที่ถูกชิงทรัพย์ การไปแจ้งความและต่อมาได้พบเห็นจำเลยนี้ พยานจำได้จึงได้ชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยมาดำเนินคดีข้อพิจารณาจึงอยู่ที่ว่าผู้เสียหายได้เห็นคนร้ายชัดเจนพอจำได้หรือไม่ เห็นว่าผู้เสียหายเบิกความว่าเหตุเกิดกลางคืนเวลาประมาณ 21.30 นาฬิกาขณะที่ผู้เสียหายกำลังนอนฟังวิทยุแบบหูฟังอยู่ ในเรื่องแสงสว่างนั้นพยานเบิกความว่ามีแสงไฟฟ้าจากริมรั่วส่องอยู่ 2 เสา และตอบทนายจำเลยว่า เสาไฟฟ้า 2 เสานี้ที่ตั้งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากจุดที่พยานนอนอยู่ประมาณ 10 เมตร ส่วนร้อยตำรวจตรีขันธ์ หนูพัฒน์ ผู้ออกไปทำแผนที่เกิดเหตุเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า จุดที่เกิดเหตุอยู่บริเวณใต้ต้นไม้ต้นอะไรไม่ทราบแต่เป็นต้นไม้ใหญ่จากทางเข้าสถานีไฟฟ้าย่อยจากริมรั่วเข้าไปประมาณ 5 เมตร เป็นบริเวณที่รกเวลากลางคืนซึ่งมีแสงไฟฟ้าซึ่งเป็นเสาไฟฟ้าสาธารณะอยู่บริเวณใกล้ริมคลอง ไม่สามารถกะระยะได้ว่าเสาไฟฟ้าต้นที่ใกล้ที่สุดกับจุดที่เกิดเหตุห่างกันกี่เมตร ในภาพถ่ายทั้งสามภาพตามเอกสารหมายล.1 ไม่ปรากฏให้เห็นภาพของเสาไฟฟ้าดังกล่าวไฟฟ้าดังกล่าวมีกำลังแรงเทียนสามารถส่งรัศมีเข้าไปถึงบริเวณที่เกิดเหตุได้ แต่ไม่สามารถมองเห็นใบหน้าผู้คนได้ชัดเท่าใดนักเห็นได้ว่าเสาไฟฟ้านั้นแม้ผู้เสียหายจะกะประมาณว่าอยู่ห่าง 10 เมตร แต่ร้อยตำรวจตรีขันธ์ว่าไม่สามารถกะระยะได้ในภาพถ่ายก้ไม่ปรากฏ จึงฟังได้ว่าเสาไฟฟ้าอยู่ไกลมาก จากสภาพที่เสาไฟฟ้าอยู่ไกลมาก ที่เกิดเหตุอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่และเป็นบริเวณที่รก จึงมีข้อสงสัยเบื้องต้นว่าบริเวณที่เกิดเหตุจะมีแสงสว่างไม่พอเพียงที่จะทำให้เห็นคนร้ายชัดเจนพอจำได้นอกจากนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ผู้เสียหายเบิกความตอบยทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะที่พยานกำลังนอยฟังวิทยุอยู่นั้น จำเลยกับพวกอีกคนหนึ่งได้เดินมาทางด้านหน้าในลักษณะเร็วและเข้าประชิดตัวพยานและว่าช่วงระยะเวลาที่จำเลยกับพวกเข้ามานั้นรวดเร็วมากเพียงไม่ถึง10 วินาที เช่นนี้ ความรวดเร็วในการปฏิบัติการของคนร้ายจึงเป็นอีกข้อหนึ่งที่ทำให้น่าสงสัยว่าผู้เสียหายจะจำคนร้ายไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีข้อที่แสดงถึงความไม่แน่นอนในการจดจำตัวคนร้ายนอีกกล่าวคือผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลบยว่า หลังเกิดเหตุแล้วก่อนวันที่10 กรกฎาคม 2532 พยานได้เคยพบจำเลยในตรอกไผ่สิงห์โต ซึ่งพยานก็ได้พยายามมองดูให้แน่ชัดว่าเป็นจำเลยซึ่งเป็นคนร้ายมาใช้มีดจี้ชิงทรัพย์พยานไปหรือไม่ โดยพยานสังเกตจำเลยอยู่หลายวันจนวันที่ 10 กรกฎาคม จึงแน่ใจว่าเป็นจำเลยนี้และแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจจับ อีกประการหนึ่ง การที่ผู้เสียหายชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้เสียหายจำได้ว่าเป็นคนร้ายชิงทรัพย์เพราะผู้เสียหายเบิกความว่าพยานไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน แต่เคยเห็นหน้าจำเลยในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 16 นาฬิกา ขณะที่พยานกำลังฟังวิทยุแบบหูฟังอยู่ จำเลยมากับผู้หญิงและผู้ชายคนหนึ่ง จำเลยพูดขอยืมฟังวิทยุแบบหูฟังของพยาน แล้วจำเลยส่งวิทยุดังกล่าวให้ชายอีกคนหนึ่งฟังและทำท่าว่าจะเอาไปพยานไปแจ้งเจ้าหน้าที่ป้อมยามของการไฟฟ้าจำเลยจึงคืนให้ เช่นนี้ จึงมีข้อที่น่าสงสัยว่า การที่ผู้เสียหายแจ้งจับจำเลยอาจเป็นเพราะจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าจำเลยเป็นคนร้ายก็ได้ มิใช่เพราะการจดจำจำเลยได้ในคืนเกิดเหตุพยานหลักฐานโจทก์จึงเป็นที่สงสัยว่าจำเลยจะได้กระทำผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share