คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1228/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนสำนวนแรกจำเลยที่3เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยและคดีก่อนสำนวนหลังจำเลยที่1เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์และจำเลยที่3ในคดีนี้เป็นจำเลยและทั้งสองสำนวนคู่ความตกลงประนีประนอมยอมความกันโดยสำนวนแรกโจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่3มีกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนในที่ดินพิพาท12ไร่ทางด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดินของโจทก์และในสำนวนหลังโจทก์และจำเลยที่3เป็นจำเลยที่1ตกลงยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยที่1จำนวน6งานจำเลยที่3จำนวน4ไร่คดีทั้งสองจำนวนดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่1และที่3มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเนื้อที่เท่าใดส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยครอบครองเป็นส่วนสัดแน่นอนจำเลยทั้งหกไม่ยอมไปยื่นคำร้องขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อแบ่งแยกที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ให้โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมไปยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นส่วนสัดของโจทก์ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีว่าโจทก์มีสิทธิขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งหกไปยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดให้โจทก์ตามที่ฟ้องหรือไม่แม้โจทก์กับจำเลยที่1และที่3จะเป็นคู่ความรายเดียวกันและจำเลยที่2สืบสิทธิจากจำเลยที่3ทั้งที่ดินพิพาทจะเป็นแปลงเดียวกันแต่โจทก์ในแต่ละคดีต่างฟ้องขอแบ่งแยกที่ดินตามส่วนที่ตนครอบครองเป็นคนละส่วนกันซึ่งการที่ศาลจะวินิจฉัยว่าโจทก์ในแต่ละคดีจะได้ส่วนแบ่งส่วนใดเนื้อที่เท่าใดนั้นจะต้องพิจารณาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์แต่ละคดีเป็นส่วนๆแยกกันไปหาใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำขอในคดีก่อนกับคดีนี้จึงต่างกันฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทเป็นส่วนสัดมานานแล้วจำเลยที่2ที่3และที่6มิได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ได้ครอบครองเป็นส่วนสัดและโจทก์ขอแบ่งแยกเกินส่วนที่โจทก์มีสิทธิตามที่ระบุไว้ในโฉนดที่พิพาทส่วนจำเลยที่4ที่5ขาดนัดยื่นคำให้การการที่จำเลยที่2ที่3ที่4และที่6ฎีกาว่าการครอบครองมิได้แบ่งแยกเป็นส่วนสัดที่ดินพิพาทมีผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่8คนและได้บรรยายส่วนไว้แล้วหากจะถือตามที่ครอบครองก็ยากแก่การรังวัดเพราะการครอบครองตามข้อเท็จจริงไม่ตรงกันฎีกาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ จำเลยทั้งหก และนางเจียนถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 3645 เนื้อที่ 63 ไร่ 20 ตารางวาโดยโจทก์ได้รับมรดกมาจากนางนวมตามพินัยกรรม 10 ไร่ และในฐานะทายาทโดยธรรมอีก 1 งาน 5 ตารางวา รวมเป็น 10 ไร่ 1 งาน5 ตารางวา โจทก์ครอบครองที่ดินส่วนของโจทก์เป็นส่วนสัดตลอดมาและประสงค์จะจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์จึงแจ้งให้จำเลยทั้งหกไปร่วมยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกไปยื่นคำร้องขอรังวัดและจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ตามส่วน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 1เคยยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 3 เป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นและศาลได้มีคำพิพากษาให้แบ่งแยกที่ดินโฉนดที่พิพาทแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำ โจทก์และจำเลยทุกคนได้แบ่งแยกครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดนานแล้ว จำเลยไม่เคยขัดขวางและไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ไปยื่นคำขอจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแนวเขตเส้นสีเขียวในแผนที่พิพาท
โจทก์จำเลยที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ไปยื่นคำขอจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ด้วย
จำเลย ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และ ที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 323/2527 ของศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยและคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 934/2531ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 3ในคดีนี้เป็นจำเลยหรือไม่นั้น เห็นว่า ในคดีดังกล่าวคู่กรณีได้พิพาทกันเกี่ยวกับการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่พิพาทและตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยคดีแพ่งหมายเลขแดงที่323/2527 โจทก์ยอมรับว่า จำเลยที่ 3 มีกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนในโฉนดที่พิพาท 12 ไร่ ทางด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดินของโจทก์และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 934/2531 โจทก์และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ตกลงยกกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่พิพาทให้จำเลยที่ 1จำนวน 6 งาน จำเลยที่ 3 จำนวน 4 ไร่ คดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดที่พิพาทเนื้อที่เท่าใด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่พิพาทโดยครอบครองเป็นส่วนสัดแน่นอน จำเลยทั้งหกไม่ยอมไปยื่นคำร้องขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อแบ่งแยกที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมไปยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่พิพาทออกเป็นส่วนสัดของโจทก์ เนื้อที่10 ไร่ 1 งาน 5 ตารางวา จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่าไม่เคยขัดขวางการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 6มิได้ให้การในข้อนี้ และจำเลยที่ 4 ที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีว่า โจทก์มีสิทธิขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งหกไปยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่พิพาทเป็นส่วนสัดให้โจทก์ตามที่ฟ้องหรือไม่ แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1และที่ 3 จะเป็นคู่ความรายเดียวกันและจำเลยที่ 2 สืบสิทธิจากจำเลยที่ 3 ทั้งที่ดินโฉนดที่พิพาทจะเป็นแปลงเดียวกัน แต่โจทก์ในแต่ละคดีต่างฟ้องขอแบ่งแยกที่ดินตามส่วนที่ตนครอบครองเป็นคนละส่วนกันซึ่งการที่ศาลจะวินิจฉัยว่าโจทก์ในแต่ละคดีจะได้ส่วนแบ่งส่วนใด เนื้อที่เท่าใดนั้นจะต้องพิจารณาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์แต่ละคดีเป็นส่วน ๆ แยกกันไป หาใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำขอในคดีก่อนกับคดีนี้จึงต่างกัน ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148
ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ฎีกาต่อไปว่าการครอบครองมิได้แบ่งแยกเป็นส่วนสัด ที่ดินแปลงพิพาทมีผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่ 8 คน และได้บรรยายส่วนไว้แล้ว หากจะถือตามที่ครอบครองก็ยากแก่การรังวัด เพราะการครอบครองตามข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน ข้อนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทเป็นส่วนสัดมานานแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 มิได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ได้ครอบครองเป็นส่วนสัด และโจทก์ขอแบ่งแยกเกินส่วนที่โจทก์มีสิทธิตามที่ระบุไว้ในโฉนดที่พิพาท ส่วนจำเลยที่ 4ที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ ฎีกาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share