คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5785/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงการวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำหนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไปส่งที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่1แม้ไม่พบจำเลยที่1และไม่มีผู้ใดรับไว้โดยเกิดจากการที่จำเลยที่1หลีกเลี่ยงไม่ยอมรับก็ถือว่าหนังสือบอกเลิกสัญญาได้ไปถึงจำเลยที่1และมีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 207,577 บาทกับค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 165,000 บาท และค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 5,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งคืนรถยนต์หรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่เลิกกันค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินส่วนขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9ค-0692 กรุงเทพมหานคร คืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน100,000 บาท กับร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 90,000 บาท แก่โจทก์
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2เพียงข้อเดียวว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 92/9 (ที่ถูกเป็น 62/9) หมู่ที่ 2 ถนนเอกชัยแขวงบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ตามสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 ตามภูมิลำเนาดังกล่าวทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาให้จำเลยที่ 1ไม่ได้ โดยรายงานเหตุขัดข้องว่า “ย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่”เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงไม่ยอมรับหมาย เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายการเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง” และมาตรา 169 บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า ให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา” ดังนี้ การที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำหนังสือบอกเลิกสัญญาไปส่งให้จำเลยที่ 1 ที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1อันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการ แม้จะไม่พบจำเลยที่ 1 และไม่มีผู้ใดรับไว้ แต่ก็ถือได้ว่า หนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์ได้ไปถึงจำเลยที่ 1 และมีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไปยังจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมายฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share