คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1225/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่จำเลยทั้งสามขายให้โจทก์ โดยบรรยายฟ้องว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีสภาพบกพร่อง เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ดังนี้ สภาพแห่งข้อหาของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสามส่งมอบรถยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาซื้อขายที่มีสภาพบกพร่องให้แก่โจทก์เป็นการประพฤติผิดสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และมีคำขอบังคับให้จำเลยคืนเงิน 70,000บาท ที่รับไปจากโจทก์และชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย จำเลยให้การรับว่า ได้ขายรถยนต์ให้แก่โจทก์และรับเงินจากโจทก์จริง แต่ต่อสู้ว่าจำเลยไม่จำต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ เพราะโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญาซื้อขายนั้นแล้ว โดยโจทก์เปลี่ยนใจเช่าซื้อรถยนต์คันใหม่จากจำเลยและยอมให้ถือเอาเงิน 70,000 บาทนั้นเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าซื้อ และโจทก์ยังเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ เป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย ขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลย ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์กับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยจึงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ซื้อรถยนต์จากจำเลยแล้วชำระราคาบางส่วนเป็นเงิน 70,000 บาท คงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายต้องรับผิดคืนเงินจำนวน 70,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ หรือโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญาซื้อขายแล้วเปลี่ยนมาผูกพันกันตามสัญญาเช่าซื้อ โดยโจทก์เช่าซื้อรถยนต์คันใหม่จากจำเลยและถือเอาเงิน 70,000 บาทนั้นเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าซื้อ แล้วโจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสามมีสิทธิริบเงิน 70,000 บาท และเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ดังนั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยมีข้อพิพาทโดยตรงว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงิน 70,000 บาท คืนจากจำเลยหรือไม่ แม้จะมีข้อเรียกร้องอื่นเกี่ยวกับค่าเสียหายที่ต่างฝ่ายยกขึ้นเป็นข้ออ้างข้อเถียงก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับเงินจำนวน 70,000 บาทนั้นเอง ฉะนั้น คำฟ้องแย้งของจำเลยที่อ้างว่ามีสิทธิริบเงิน 70,000 บาท จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสาม จึงชอบที่จะรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา

Share