คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ ศาลชั้นต้นให้โจทก์แถลงว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปภายใน 7 วัน โจทก์ทราบคำสั่งแล้วไม่แถลงภายในเวลาที่กำหนดถือว่าโจทก์ทิ้งฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแบ่งทรัพย์มรดกของ ว. ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามพินัยกรรม และได้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องขอให้มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดเก็บผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์มรดกดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดเก็บผลประโยชน์เข้ากองมรดกของ ว. ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยให้นำเงินผลประโยชน์รวมไว้ในกองมรดกและทำบัญชีรับจ่ายส่งศาลทุกเดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนแต่ต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษากลับให้ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้สั่งให้โจทก์ทั้งสองนำเงินรายได้จากการเก็บผลประโยชน์มาส่งไว้ต่อศาล โจทก์ทั้งสองแถลงว่ามีเงินผลประโยชน์ทั้งสิ้น 2,042,690.79 บาท ได้ฝากไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแน้นซ์ จำกัด และฝากประจำไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด เพื่อนำดอกเบี้ยมาเข้ากองมรดก จึงขอส่งตั๋วสัญญาใช้เงินและบัญชีเงินฝากประจำต่อศาลจำเลยที่ 1 แถลงขอให้สั่งโจทก์นำเงินสดมาวางศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองนำเงินได้จากกองมรดกซึ่งเก็บได้ในระหว่างเป็นผู้จัดเก็บผลประโยชน์ตามคำสั่งศาลทั้งหมดมาวางศาลภายใน 30 วัน โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองนำเงินสดจำนวน2,042,690.79 บาท มาวางศาล
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เงินผลประโยชน์ของกองมรดกที่โจทก์เก็บมาเป็นเงิน 2,042,690.79 บาท เดิมโจทก์มิได้นำเงินสดมาวางศาลแต่นำตั๋วสัญญาใช้เงินและสมุดเงินฝากประจำมาวางแทนเท่ากับโจทก์นำเงินที่เก็บผลประโยชน์ของกองมรดกมานั้นไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินส่วนหนึ่ง และฝากธนาคารอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้นดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารจึงเป็นดอกผลที่เกิดจากต้นเงิน2,042,690.79 บาท ซึ่งเป็นเงินผลประโยชน์ของกองมรดก ฉะนั้นดอกเบี้ยดังกล่าวจึงต้องตกเป็นทรัพย์สินของกองมรดกด้วย จึงให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่มีสิทธิจะได้รับตามตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมาวางศาลภายในกำหนด 7 วัน
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาและให้ส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยทั้งสี่เจ้าหน้าที่ศาลนำหมายนัดและสำเนาฎีกาไปส่งให้จำเลยทั้งสี่ปรากฏว่าส่งไม่ได้ เจ้าหน้าที่ศาลรายงานการเดินหมายให้ศาลทราบโดยแยกเป็น 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นรายงานการเดินหมายที่ส่งให้จำเลยที่ 1 ฉบับหลังเป็นรายงานการเดินหมายที่ส่งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งใด ๆ ในรายงานการเดินหมายที่ส่งให้จำเลยที่ 1 แต่สั่งในรายงานการเดินหมายที่ส่งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ว่า “ให้โจทก์ทราบจะจัดการอย่างไรให้แถลงภายใน 7 วัน” เจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายแจ้งคำสั่งศาลดังกล่าวให้โจทก์ทราบ โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2532 โจทก์มิได้ดำเนินการอย่างไรจนวันที่ 7พฤษภาคม 2533 ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้ส่งสำนวนมาศาลฎีกา ศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และให้ส่งสำนวนไปศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งให้หมายแจ้งให้ทนายโจทก์ทราบว่า ส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยที่ 1ไม่ได้ จะดำเนินการอย่างไรต่อไปให้แถลงภายใน 7 วันนับแต่วันรับหมาย เจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายแจ้งคำสั่งศาลดังกล่าวให้โจทก์ทราบแล้ว 2 ครั้ง โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2534และวันที่ 16 พฤษภาคม 2534 โจทก์มิได้ดำเนินการอย่างไร วันที่10 กุมภาพันธ์ 2535 ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้ส่งสำนวนมาศาลฎีกาอีกครั้ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ ศาลชั้นต้นให้โจทก์แถลงว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ภายใน 7 วัน โจทก์ทราบคำสั่งแล้วไม่แถลงภายในเวลาที่กำหนด ถือว่าโจทก์ทิ้งฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)”
ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลฎีกา.

Share