คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ภายในกำหนดอายุอุทธรณ์และศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ไว้แล้ว ต่อมาเมื่อล่วงเลยกำหนดอายุอุทธรณ์ จำเลยจึงยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมอุทธรณ์อีกฉบับหนึ่งซึ่งมีลักษณะและเนื้อหาเป็นการเพิ่มปัญหาขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นสั่งรับไว้แล้ว ถือเท่ากับเป็นการยื่นอุทธรณ์นั่นเอง ซึ่งจะต้องกระทำภายในกำหนด 15 วัน ศาลไม่รับเป็นเพิ่มเติมอุทธรณ์ แต่ให้รับไว้เป็นคำแถลงการณ์
ความผิดฐานมีไม้หวงห้ามยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองกับความผิดฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในความครอบครองเป็นความผิดต่างกรรมกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบท หลายกระทงต่างกรรมกันกล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๒ ถึงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๒๓ เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกับนายสงวนพงษ์หรือแป๊ะ ธรรมเสรี หรือ ณ ระนอง ได้ร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้ในโรงงานไม่มีเลขที่ถนน ณ ระนอง แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครโดยใช้เครื่องจักรคือ เครื่องไสไม้ขนาด ๑.๒๕ แรงม้า จำนวน ๒ เครื่อง เครื่องกลึงไม้ขนาด ๐.๒๕ แรงม้า จำนวน ๑ เครื่อง และใช้คนรวม ๗ คน เพื่อทำ ผลิต ประกอบ เลื่อย ไส กลึงไม้ อันเป็นโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับไม้โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วจำเลยกับนายสงวนพงษ์หรือแป๊ะ ธรรมเสรี หรือ ณ ระนอง ได้ร่วมกันประกอบกิจการโรงงานโดยเปิดดำเนินงาน ทำ ผลิตประกอบ เลื่อย ไส กลึงไม้ขึ้นที่โรงงานดังกล่าวโดยไม่ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน กับตามวันเวลาดังกล่าวซึ่งมีประกาศกำหนดให้เป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้ จำเลยกับนายสงวนพงษ์หรือแป๊ะ ธรรมเสรี หรือ ณ ระนองได้ร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้ร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และได้ร่วมกับพวกทำการแปรรูปไม้ ไม้พยุง ไม้พุด อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. และเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๒๓ เวลากลางวัน ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ จำเลยกับพวกได้ร่วมกันมีไม้แปรรูปโดยมีไม้พยุงถากกลมจำนวน ๖๐ ท่อน ปริมาตรา ๘.๗๐ ลูกบาศก์เมตร ไม้พยุงเหลี่ยมจำนวน ๑๑๐ เหลี่ยม ปริมาตรา ๘.๗๓ ลูกบาศก์เมตร ไม้พุดถากกลม จำนวน ๒ ท่อน ปริมาตร ๐.๐๑ ลูกบาศก์เมตร รวมปริมาตรทั้งหมด๑๗.๔๔ ลูกบาศก์เมตร ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และร่วมกันมีไว้ในความครอบครองซึ่งไม้พุดอันเป็นไม้หวงห้ามประเภทก. ยังมิได้แปรรูปจำนวน ๑,๐๗๕ ท่อน ปริมาตร ๑๗.๕๐ ลูกบาศก์เมตร โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงและรอยตรารัฐบาลขายประทับที่ไม้ดังกล่าว ทั้งพิสูจน์ไม่ได้ว่า ได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๒ ฯลฯ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ ฯลฯ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. ๒๕๑๒ มาตรา ๘, ๑๒, ๔๓, ๔๔ พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕, ๑๑ พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓, ๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘, ๖๙, ๗๓, ๗๔ ทวิ, ๗๔ จัตวา พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๒, ๑๗, ๑๘ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๙, ๒๗, ๒๘ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓, ๗, ๙ ประกาศกระทรวงเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ข้อ ๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒ ให้เรียงกระทงลงโทษ ลงโทษฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก ๖ เดือน ฐานทำการแปรรูปไม้บทหนัก จำคุก ๖ เดือน มีไม้หวงห้ามยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครอง จำคุก ๒ ปี รวมโทษจำคุก ๓ ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน ของกลางริบ จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗๓(๒) แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗ ฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในความครอบครองอีกกระทงหนึ่งจำคุก ๒ ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปีรวมเป็นลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสิ้น ๒ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดโทษและไม่รอการลงโทษเหมาะสมแล้วไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงแก้ไข
จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่รับคำร้องขอเพิ่มเติมอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในความครอบครองอีกกระทงหนึ่งไม่ได้ เพราะเป็นกรรมเดียวกันกับความผิดฐานมีไม้หวงห้ามมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองซึ่งเป็นบทหนัก
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความว่าศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๓ จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๒๓ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ในวันเดียวกันนั้น ต่อมาวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ ซึ่งเป็นเวลาที่ล่วงเลยกำหนดอายุอุทธรณ์ ๑๕ วันแล้ว จำเลยจึงยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมอุทธรณ์อีกฉบับหนึ่งว่าความผิดของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ควรลงโทษบทหนักในข้อหามีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษว่าผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ เป็นการไม่ชอบ เห็นว่าการเพิ่มเติมอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวมีลักษณะและเนื้อหาเป็นการเพิ่มปัญหาขึ้นจากที่ศาลสั่งรับไว้แล้ว คือเท่ากับเป็นการยื่นอุทธรณ์นั่นเอง ซึ่งจะต้องกระทำภายในกำหนด ๑๕ วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๘ เช่นเดียวกันศาลอุทธรณ์ไม่รับเป็นเพิ่มเติมอุทธรณ์ แต่ให้รับไว้เป็นคำแถลงการณ์จึงชอบแล้ว ส่วนความผิดฐานมีไม้หวงห้ามยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองกับความผิดฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในความครอบครองนั้นเป็นความผิดต่างกรรมกัน มิใช่กรรมเดียว ศาลอุทธรณ์เรียงกระทงลงโทษชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share