แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกัน และมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างคดีธรรมดาที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทไป ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงอาจมีผลไม่ตรง หรือไม่เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องได้ ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 52 ซึ่งห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง นอกจากนี้คดีแรงงานเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษอันควรระงับลงได้ด้วยความเข้าใจต่อกันเพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์อันดีกันต่อไป พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 38 วรรคหนึ่ง จึงบัญญัติให้ศาลแรงงานไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงหรือประนีประนอมยอมความกัน การที่ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินต่างๆ แล้ว คู่ความตกลงกันได้โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า “ข้อ 1 โจทก์จำเลยรับกันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเกิดจากความเข้าใจผิด บัดนี้สองฝ่ายเข้าใจกันดีแล้ว จำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นคนของจำเลย ปัจจุบันออกจากบริษัทจำเลยแล้ว จำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ 40,000 บาท โดยจะนำเงินมาวางศาลภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ข้อ 2 จำเลยจะนำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้และรายงานกระบวนพิจารณาไปปิด ณ ที่ทำการของจำเลยมีกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2548 ข้อ 3 โจทก์ยอมตามข้อ 1 ข้อ 2 ไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดจากกันอีก” และพิพากษาตามยอมจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะอุทธรณ์ได้ ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
ขณะที่ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ย โจทก์มีทนายความอยู่ด้วยและทนายความของโจทก์ก็ร่วมลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเนื่องจากกลัวคำขู่ของศาลแรงงานกลางขณะทำการไกล่เกลี่ยนั้น โจทก์เพิ่งยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏหลักฐานอื่นในสำนวน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ระหว่างโจทก์เป็นลูกจ้าง จำเลยจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน กองทุนประกันสังคม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอบังคับให้จำเลยชำระเงิน 1,193,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์และจำเลยตกลงกันได้ ขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลมีข้อความว่า ข้อ 1 โจทก์จำเลยรับกันว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเกิดจากความเข้าใจผิด บัดนี้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันดีแล้ว จำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นคนของจำเลย ปัจจุบันออกจากบริษัทจำเลยแล้ว จำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ 40,000 บาท โดยจะนำเงินมาวางศาลภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548
ข้อ 2 จำเลยจะนำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้และรายงานกระบวนพิจารณาไปปิด ณ ที่ทำการของจำเลยมีกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2548
ข้อ 3 โจทก์จำเลยยอมตามข้อ 1 ข้อ 2 ไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดจากกันอีก
ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “อุทธรณ์ของโจทก์สรุปได้ว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ แม้จะเป็นการยุติข้อพิพาท แต่มิใช่ยุติข้อพิพาทตามสัญญาจ้างแรงงานหรือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (1) (2) ทั้งมิใช่ข้อเรียกร้องตามคำขอท้ายฟ้อง อันต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเนื่องจากกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีและจะแพ้คดีตามคำขู่ของศาลแรงงานกลางขณะทำการไกล่เกลี่ย ดังนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความจึงตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอม แล้วยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ เห็นว่าในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันและมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างคดีธรรมดาที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทไป ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือไม่เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องได้ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ซึ่งห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง นอกจากนี้คดีแรงงานยังเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษอันควรระงับลงได้ด้วยความเข้าใจต่อกันเพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์อันดีกันต่อไป พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง จึงบัญญัติให้ศาลแรงงานไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงหรือประนีประนอมยอมความกัน การที่ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยและพิพากษาตามยอมจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะอุทธรณ์ได้ ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 สำหรับอุทธรณ์ที่อ้างว่าโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเนื่องจากกลัวคำขู่ของศาลแรงงานกลางขณะทำการไกล่เกลี่ยนั้น เห็นว่า ขณะที่ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ย โจทก์มีทนายความอยู่ด้วยและทนายความของโจทก์ก็ร่วมลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวโจทก์เพิ่งยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นในสำนวนเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์