คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5256/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้การประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาจะไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ข้อ 35 ที่ว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับค้ำประกันหนี้ ความรับผิด หรือการปฏิบัติตามสัญญา ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าได้ทำสัญญาประกัน ซ. ตามสัญญาประกันอันเป็นการให้สัตยาบันการทำสัญญาประกันนั้นแล้ว สัญญาประกันดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตาม ป.พ.พ. มาตรา 823

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,093,904 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2544 โจทก์ได้ควบคุมตัวนางสาวโซเนีย นารูลา ไว้เพื่อทำการสอบสวนดำเนินคดีโดยกล่าวหาว่าร่วมกันเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทจำกัด กระทำการหรือยินยอมให้กระทำการลงข้อความอันเป็นเท็จในบัญชีหรือเอกสารของบริษัทหรือที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์และฉ้อโกง ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันตัวนางสาวโซเนียไปจากการควบคุมของโจทก์ โดยนำสมุดคู่ฝากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน สาขาทองหล่อ วงเงิน 1,000,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชีเป็นประกัน โจทก์กำหนดให้นางสาวโซเนียไปพบจำนวน 3 ครั้ง แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งตัวนางสาวโซเนียแก่โจทก์ได้ อันเป็นการผิดสัญญาประกัน โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับตามสัญญาประกันภายในวันที่ 4 ตุลาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวของโจทก์แล้วแต่เพิกเฉย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการทำสัญญาประกันผู้ต้องหา การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันตัวนางสาวโซเนียซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังไม่เป็นการแน่ชัดว่าอยู่ในขอบวัตถุประสงค์หรือนอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ต้องถือว่าจำเลยทั้งสามกระทำการไปนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาประกันนั้น เห็นว่า ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 ระบุว่า จำเลยที่ 1 มีกรรมการ 3 คน คือจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายชัยสิทธิ์ ธิติสุทธิ กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้คือ กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทตามคำร้องขอประกันตัวและสัญญาประกันได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทขอประกันตัวนางสาวโซเนียและทำสัญญาประกัน ซึ่งพันตำรวจโทไพศาล ลือสมบูรณ์ พนักงานสอบสวนผู้ทำสัญญาประกันกับจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอประกันตัวนางสาวโซเนีย พร้อมยื่นสมุดบัญชีคู่ฝากของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน สาขาทองหล่อ ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชีเป็นประกัน และพันตำรวจโทไพศาลยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันโดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ทำสัญญาประกันในฐานะส่วนตัว กับได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกวิวัฒน์ โอวาทตระกูล พยานโจทก์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามว่า ในการทำสัญญาประกันจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาประกัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ทำสัญญาประกันด้วย ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ในสัญญาประกันในฐานะที่ตนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และกระทำในนามของจำเลยที่ 1 หาได้กระทำเป็นส่วนตัวไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว แม้การประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาจะไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ข้อ 35 ที่ว่า จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับค้ำประกันหนี้ ความรับผิด หรือการปฏิบัติตามสัญญา ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าได้ทำสัญญาประกันนางสาวโซเนียตามสัญญาประกัน อันเป็นการให้สัตยาบันการทำสัญญาประกันนั้นแล้ว สัญญาประกันดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับจำนวน 50,000 บาท ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ข้อหาที่นางสาวโซเนียต้องหามีอัตราโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี แสดงว่าข้อหาที่นางสาวโซเนียถูกกล่าวหามีความสำคัญสูง ทั้งนางสาวโซเนียถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานกรุงเทพ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2544 หลังผิดสัญญาประกันถึง 3 เดือนเศษ มิใช่เป็นกรณีที่นางสาวโซเนียเข้ามอบตัวหรือนายประกันส่งตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ลดเบี้ยปรับตามสัญญาประกันนั้น เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกวิวัฒน์ โอวาทตระกูล พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามว่าขณะที่ร้อยตำรวจเอกวิวัฒน์แจ้งข้อหาแก่นางสาวโซเนีย นางสาวโซเนียกำลังศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ได้เดินทางกลับมาประเทศไทย และเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ในวันนัดส่งตัวผู้ต้องหาวันที่ 19 มิถุนายน 2544 และวันที่ 26 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 2 และที่ 3 แจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่าไม่สามารถส่งตัวนางสาวโซเนียได้เพราะนางสาวโซเนียกำลังอยู่ในต่างประเทศ และแจ้งด้วยว่าเหตุที่นางสาวโซเนียไม่สามารถมาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ได้เนื่องจากมีปัญหาเรื่องวีซ่า ส่วนพันตำรวจโทไพศาลพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่สามารถส่งตัวนางสาวโซเนียต่อพนักงานสอบสวนทั้งสามครั้งโดยอ้างว่านางสาวโซเนียศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งตัวนางสาวโซเนียตามกำหนดนัดของพนักงานสอบสวนได้เนื่องจากนางสาวโซเนียกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และจำเลยที่ 1 ได้แจ้งเหตุขัดข้องดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนทราบแล้ว เพียงแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนกำหนดวันส่งตัวนางสาวโซเนียเท่านั้น อีกทั้งตามบันทึกข้อความของจำเลยที่ 1 ที่เสนอต่อพนักงานสอบสวน ก็ระบุว่านางสาวโซเนียจะเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2544 จึงมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยหรือไม่ใส่ใจที่จะส่งตัวนางสาวโซเนียเสียทีเดียว และพฤติการณ์ของนางสาวโซเนียที่ถูกจับกุมขณะอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานกรุงเทพแสดงให้เห็นว่า นางสาวโซเนียมีเจตนาที่จะเดินทางกลับมาที่ประเทศไทย มิได้มีเจตนาที่จะหลบหนี เมื่อพนักงานสอบสวนส่งตัวนางสาวโซเนียต่อพนักงานอัยการ พนักงานอัยการก็อนุญาตให้ปล่อยตัวนางสาวโซเนียชั่วคราว โดยตีราคาหลักประกันเพียง 600,000 บาท เท่านั้น ประกอบกับข้อหาที่นางสาวโซเนียถูกกล่าวหาก็มีโทษไม่สูงมากนัก ความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาประกันไม่น่าจะมีจำนวนสูงมากดังที่โจทก์ฎีกา การที่โจทก์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินเต็มตามสัญญาประกัน เป็นการกำหนดจำนวนเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ศาลย่อมลดเบี้ยปรับลงได้ตามที่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าปรับจำนวน 50,000 บาท นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share