คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1220/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยแสดงความจำนงต่อ จำเลยทั้งสองว่าจะใช้ของที่นำเข้ามานั้นในการผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุเพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี เพื่อขอคืนเงินอากรขาเข้า ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ. 2482 และโจทก์มิได้ชำระอากรขาเข้าเพราะได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ให้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารแทนการชำระภาษีอากรที่จะต้องเสีย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ตรี แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนี้ การคืนเงินภาษีอากรที่ได้ชำระแล้วหรือการคืนประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินค่าภาษีอากรนั้น มาตรา 19 ทวิ บัญญัติไว้เพียงกรณีเดียวคือ เมื่อได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจอธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมศุลกากรมอบหมายว่าของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศนั้น ได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา 19 ทวิ (ก)-(จ) ด้วยเมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้ส่งของที่ผลิตด้วยเส้นด้ายใยยาวสังเคราะห์ทำด้วยโปลีเอสเตอร์และผ้าทอโปลีเอสเตอร์ใยสั้นที่ได้นำเข้า ออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปีจึงไม่อาจขอคืนเงินค่าภาษีอากรที่ได้ชำระหรือขอคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามมาตรา 19 ทวิ แม้ว่าของที่โจทก์นำเข้าทั้งที่ยังมีสภาพเป็นวัตถุดิบและที่นำมาผลิตเป็นสินค้าแล้วอยู่ในขั้นเตรียมการเพื่อส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศได้ถูกเพลิงไหม้เสียหายทั้งหมดขณะที่เก็บไว้ในโรงงานของโจทก์ก็ตาม แต่ไม่มีบทกฎหมายใดที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าภาษีอากรที่ได้ชำระแล้วหรือเรียกหนังสือค้ำประกันคืนจากจำเลยในก่อนนี้ได้ ตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เป็นบทบัญญัติในหมวด 10 ว่าด้วยการเก็บของในคลังสินค้าซึ่งบัญญัติให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรในอันที่จะยกเว้นค่าภาษีที่จะต้องเสียหรือคืนค่าภาษีที่ได้เสียแล้วสำหรับของที่เก็บในคลังเก็บสินค้า หรือที่ยื่นใบขนเพื่อเก็บในคลังสินค้าหรือที่ยื่นใบขนเพื่อรับมอบไปจากคลังสินค้าแล้วเกิดการสูญหายหรือถูกทำลายโดยอุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงเสียได้ ในขณะที่อยู่บนเรือหรือในเวลาย้ายถอนขนขึ้น ในเวลารับเข้าเก็บในคลังสินค้า หรือเวลาที่เก็บอยู่ในคลังสินค้า แต่โรงงานของโจทก์ซึ่งเป็นสถานที่เก็บของที่นำเข้าดังกล่าว มิได้เป็นคลังสินค้า ฉะนั้น แม้เพลิงจะได้ไหม้ของที่โจทก์นำเข้าทั้งที่นำมาผลิตเป็นสินค้าแล้วและที่ยังอยู่ในสภาพเป็นวัตถุดิบที่เก็บรักษาในอาคารโรงงานของโจทก์จนเสียหายไปทั้งหมด ไม่ว่าการที่เกิดเพลิงไหม้เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยหรืออุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงเสียได้ อธิบดีกรมศุลกากรก็ไม่มีอำนาจที่จะยกเว้นค่าภาษีที่จะต้องเสียหรือคืนค่าภาษีที่ได้เสียแล้วสำหรับของนั้นให้แก่โจทก์ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางไม่ได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ว่า การที่โจทก์ไม่สามารถผลิตสินค้าและส่งสินค้าออกภายในกำหนด 1 ปี มิใช่ความผิดของโจทก์ มิใช่ความผิดของโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดชอบในค่าภาษีอากรตามฟ้องและสมควรได้รับอากรขาเข้าคืน ตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 19 ทวิ หรือไม่เป็นการไม่ชอบนั้นเมื่อปรากฏว่าศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยว่า การที่ของที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามฟ้อง ทั้งที่นำมาผลิตเป็นสินค้าแล้วและที่ยังอยู่ในสภาพเป็นวัตถุดิบซึ่งโจทก์เก็บรักษาไว้ที่โรงงานของโจทก์ถูกเพลิงไหม้เสียหายหมด ทำให้โจทก์ไม่สามารถส่งสินค้าที่ผลิตหรือประกอบหรือผสมหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้า ออกไปยังเมืองต่างประเทศ แม้จะเป็นเหตุสุดวิสัย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับค่าภาษีอากรที่ได้ชำระไว้แล้วคืนจากจำเลยทั้งสอง เป็นการวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ไม่สามารถผลิตและส่งสินค้าที่ผลิตด้วยของที่นำเข้าไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปีแม้จะมิใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าภาษีอากรที่ได้เสียไปแล้วคืน จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรมในรัฐบาล จำเลยที่ 1 เป็นอธิบดีกรมศุลกากรจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองเรียกเก็บเงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารเพื่อเป็นการรับชำระค่าอากรขาเข้าค่าภาษีและเบี้ยปรับเงินเพิ่มมิชอบด้วย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนต้นเงินจำนวน 17,800,772.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2537 อันเป็นวันที่จำเลยทั้งสองเรียกเก็บเงินไปจากธนาคารทั้งสองจนถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ย 815,665.50 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 18,616,438.37 บาท และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีของต้นเงิน 17,800,772.87 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2533 ถึงเดือนตุลาคม 2534 โจทก์ได้นำสินค้าประเภทเส้นด้ายใยยาวสังเคราะห์ทำด้วยโปลีเอสเตอร์และผ้าทอโปลีเอสเตอร์ใยสั้นเข้ามาในประเทศจำนวน 15 ครั้ง ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าอากรขาเข้าและภาษีเป็นเงินทั้งสิ้น 11,908,585 บาท หลังจากที่โจทก์ได้นำสินค้าตามที่โจทก์อ้างเข้ามาในประเทศโดยจะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ นั้นปรากฏว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 2 จึงใช้สิทธิตามกฎหมายบังคับให้ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอธยุธยาจำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระอากรขาเข้าและภาษีตามสัญญาค้ำประกันที่ได้ให้ไว้แก่จำเลยที่ 2 นอกจากนี้โจทก์มีพฤติการณ์ไม่นำพาที่จะนำสินค้าที่นำเข้ามาในประเทศผลิตเป็นสินค้าเพื่อส่งออก แสดงถึงพฤติการณ์ของโจทก์ที่จะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ให้ไว้แก่จำเลยที่ 2 การที่ไฟฟ้าช็อตและลัดวงจรเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ที่โรงงานของโจทก์มีสาเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ไม่ดูแลรักษาตรวจสอบสายไฟฟ้าและวงจรไฟฟ้าว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือไม่ มิใช่เหตุสุดวิสัยที่โจทก์จะอ้างเป็นเหตุให้โจทก์หลุดพ้นจากการปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายในการที่จะนำมาซึ่งสิทธิที่จะขอคืนอากรขาเข้าและภาษีอากรจากจำเลยที่ 2 นอกจากนี้การขอคืนอากรขาเข้าในกรณีที่ไม่เป็นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ จะมีได้เฉพาะที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 95 เท่านั้น กล่าวคือ เป็นกรณีที่สินค้าสูญหายหรือถูกทำลายโดยอุบัติเหตุอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงเสียได้ในขณะที่อยู่บนเรือก็ดี หรือในเวลาย้ายถอนขนขึ้นก็ดีในเวลารับเข้าเก็บในคลังสินค้าหรือเวลาที่อยู่ในคลังสินค้าซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรอาจยกเว้นค่าภาษีที่จะต้องเสีย หรือคืนค่าภาษีที่ได้เสียแล้วสำหรับของนั้นได้ การขอคืนอากรขาเข้าและภาษีกรณีอื่นไม่อาจกระทำได้เลย เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรไว้ ดังนั้น ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าอุบัติเหตุไฟฟ้าช็อตและลัดวงจรทำให้เกิดเพลิงไหม้โรงงานสินค้าที่นำเข้ามาในประเทศดังกล่าวได้รับความเสียหายทั้งหมด นอกจากจะมิใช่เหตุสุดวิสัยตามที่โจทก์อ้างแล้ว ยังมิใช่กรณีที่สามารถขอคืนอากรขาเข้าและภาษีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 95ทั้งจำเลยไม่รับรองว่าวัตถุดิบที่โจทก์นำเข้ามาในประเทศนั้นจะถูกเพลิงไหม้เสียหายจนหมดสิ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยมิได้โต้เถียงกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อระหว่างวันที่ 4 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2534 โจทก์ได้นำเส้นด้ายใยยาวสังเคราะห์ทำด้วยโปลีเอสเตอร์และผ้าทอโปลีเอสเตอร์ใยสั้นเข้ามาในราชอาณาจักรทางเรือที่ท่าเรือกรุงเทพ ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2, 11,19, 28, 26, 42, 48, 56, 64, 73, 81, 90, 99, 110, และ 119 โดยโจทก์แสดงความจำนงต่อจำเลยที่ 2 ว่าของที่นำเข้าจะใช้ในการผลิตสินค้าผ้าลูกไม้ปักฉลุเพื่อส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำของเข้ามาในราชอาณาจักรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ. 2482 และจำเลยที่ 2 ได้อนุญาตให้โจทก์วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสามยอด และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ แทนการชำระค่าภาษีอากร โจทก์ได้นำของที่นำเข้าซึ่งใช้ในการผลิตไปเก็บไว้ที่โรงงานของโจทก์ซึ่งอยู่เลขที่ 49/1 หมู่ที่ 11 ตำบลอ้อมน้อยอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โดยโรงงานของโจทก์มิได้เป็นคลังสินค้าตามนิยามคำว่า คลังสินค้า ในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2534เพลิงได้ไหม้อาคารโรงงานดังกล่าวของโจทก์ เป็นเหตุให้ของที่โจทก์นำเข้าดังกล่าว ทั้งที่นำมาผลิตเป็นสินค้าแล้วและที่ยังอยู่ในสภาพที่เป็นวัตถุดิบ ซึ่งโจทก์เก็บไว้ในอาคารโรงงานถูกเพลิงไหม้เสียหายทั้งหมด โจทก์จึงไม่สามารถส่งผ้าลูกไม้ปักฉลุที่ผลิตด้วยของที่นำเข้าไปยังเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำของซึ่งใช้ในการผลิตเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่ 2จึงเรียกเก็บค่าภาษีอากร เบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับของที่โจทก์นำเข้าทั้ง 15 รายการ ดังกล่าวจากธนาคารผู้ค้ำประกันและได้รับชำระค่าภาษีอากร เบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน17,800,772.87 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1,10, 18, 27, 35, 41, 47, 54, 63, 72, 80, 89, 98, 106 และ 115 มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ชอบที่จะขอคืนเงินภาษีอากร เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม สำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าวคืนจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าของที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรสำหรับใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศได้ถูกเพลิงไหม้ไปทั้งหมด การส่งออกซึ่งของที่ผลิตด้วยของที่นำเข้าเป็นการพ้นวิสัย โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้านั้น เห็นว่า กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์นำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยแสดงความจำนงต่อจำเลยทั้งสองว่าจะใช้ของที่นำเข้ามานั้นในการผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุเพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี เพื่อขอคืนเงินอากรขาเข้า ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร และโจทก์มิได้ชำระอากรขาเข้า เพราะได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ให้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารแทนการชำระภาษีอากรที่จะต้องเสีย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ตรี แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สำหรับการคืนเงินภาษีอากรที่ได้ชำระแล้ว หรือการคืนประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินค่าภาษีอากรนั้นมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร บัญญัติไว้เพียงกรณีเดียวคือ เมื่อได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจอธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมศุลกากรมอบหมายว่าของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศนั้น ได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(ก) ของที่นำเข้ามานั้นมิใช่ของที่กฎกระทรวงห้ามคืนเงินอากร
(ข) ปริมาณของที่นำเข้าซึ่งใช้ในการผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุ เป็นของที่ส่งออก ให้ถือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมศุลกากรเห็นชอบหรือประกาศกำหนด
(ค) ของนั้นได้ส่งออกไปทางท่าเรือที่สำหรับการส่งออกซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้า
(ง) ของนั้นได้ส่งออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นำของซึ่งใช้ในการผลิตหรือผสมหรือประกอบเป็นของที่ส่งออก หรือใช้บรรจุของที่ส่งออกเข้ามาในราชอาณาจักร และ
(จ) ต้องขอคืนเงินอากรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ของนั้นส่งออกไป
ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์มิได้ส่งของที่ผลิตด้วยเส้นด้ายใยยาวสังเคราะห์ทำด้วยโปลีเอสเตอร์และผ้าทอโปลีเอสเตอร์ใยสั้นที่ได้นำเข้าออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปีจึงไม่อาจขอคืนเงินค่าภาษีอากรที่ได้ชำระหรือขอคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามมาตรา 19 ทวิ ที่โจทก์อ้างว่าของที่โจทก์นำเข้าทั้งที่ยังมีสภาพเป็นวัตถุดิบและที่นำมาผลิตเป็นสินค้าแล้วอยู่ในขั้นเตรียมการเพื่อส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศได้ถูกเพลิงไหม้เสียหายทั้งหมดขณะที่เก็บไว้ในโรงงานของโจทก์นั้น ก็ไม่มีบทกฎหมายใดที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าภาษีอากรที่ได้ชำระแล้ว หรือเรียกหนังสือค้ำประกันคืนจากจำเลยที่โจทก์อ้างว่าอธิบดีกรมศุลกากรอาจยกเว้นค่าภาษีที่จะต้องเสียหรือคืนค่าภาษีที่ได้เสียแล้วแก่โจทก์ตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 นั้น เห็นว่า มาตรา 95 ดังกล่าวเป็นบทบัญญัติในหมวด 10 ว่าด้วยการเก็บของในคลังสินค้า ซึ่งบัญญัติให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรในอันที่จะยกเว้นค่าภาษีที่จะต้องเสียหรือคืนค่าภาษีทีได้เสียแล้วสำหรับของที่เก็บในคลังสินค้าหรือที่ยื่นใบขนเพื่อเก็บในคลังสินค้า หรือที่ยื่นใบขนเพื่อรับมอบไปจากคลังสินค้าแล้วเกิดการสูญหายหรือถูกทำลายโดยอุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงเสียได้ ในขณะที่อยู่บนเรือหรือในเวลาย้ายถอนขนขึ้น ในเวลารับเข้าเก็บในคลังสินค้า หรือเวลาที่เก็บอยู่ในคลังสินค้า แต่โรงงานของโจทก์ซึ่งเป็นสถานที่เก็บของที่นำเข้าดังกล่าว มิได้เป็นคลังสินค้า ฉะนั้น แม้เพลิงจะได้ไหม้ของที่โจทก์นำเข้าทั้งที่นำมาผลิตเป็นสินค้าแล้วและที่ยังอยู่ในสภาพเป็นวัตถุดิบที่เก็บรักษาในอาคารโรงงานของโจทก์จนเสียหายไปทั้งหมด ไม่ว่าการที่เกิดเพลิงไหม้เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยหรืออุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงเสียได้อธิบดีกรมศุลกากรก็ไม่มีอำนาจที่จะยกเว้นภาษีที่จะต้องเสียหรือคืนค่าภาษีที่ได้เสียแล้ว สำหรับของนั้นให้แก่โจทก์ ที่จำเลยที่ 2 เรียกเก็บเงินตามหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ผู้ค้ำประกันและไม่คืนค่าภาษีอากร เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มให้แก่โจทก์จึงชอบแล้ว
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ศาลภาษีอากรกลางไม่ได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ว่า การที่โจทก์ไม่สามารถผลิตสินค้าและส่งสินค้าออกภายในกำหนด 1 ปี มิใช่ความผิดของโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดชอบในค่าภาษีอากรตามฟ้องและสมควรได้รับอากรขาเข้าคืนตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 19 ทวิ หรือไม่ เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางที่ว่า การที่ของที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามฟ้อง ทั้งที่นำมาผลิตเป็นสินค้าแล้วและที่ยังอยู่ในสภาพเป็นวัตถุดิบซึ่งโจทก์เก็บรักษาไว้ที่โรงงานของโจทก์ถูกเพลิงไหม้เสียหายหมด ทำให้โจทก์ไม่สามารถส่งสินค้าที่ผลิตหรือประกอบหรือผสมหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้าออกไปยังเมืองต่างประเทศ แม้จะเป็นเหตุสุดวิสัยโจทก์ก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับค่าภาษีอากรที่ได้ชำระไว้แล้วคืนจากจำเลยทั้งสอง เป็นการวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ไม่สามารถผลิตและส่งสินค้าที่ผลิตด้วยของที่นำเข้าไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปีแม้จะมิใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าภาษีอากรที่ได้เสียไปแล้วคืน จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทแล้ว
พิพากษายืน

Share