คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิใช่ตัวแทนของทายาท เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายผู้จัดการมรดกจึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทในอันที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท
ทายาทไม่มีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใดได้เพียงแต่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทโดยกฎหมายอนุโลมให้นำบทบัญญัติบางมาตราของลักษณะตัวแทนมาใช้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 1720 และทายาทย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ในขอบอำนาจที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1727
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ.มาตรา 1726, 1727 วรรคสอง, 1729,1731 และ 1732 นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลเป็นผู้ดูแลให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปโดยเรียบร้อย
การที่ผู้ร้องที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทที่ตั้งตามพินัยกรรมเข้าบริหารทรัพย์สินของกองมรดกแทนผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตาย เป็นวิธีการจัดการมรดกซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำเองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1719 และ 1723 ดังนี้ทายาทย่อมไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ผู้จัดการมรดกกระทำการดังกล่าวได้ และมิใช่อำนาจของศาลที่จะบังคับให้ผู้จัดการมรดกกระทำเช่นกัน

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๓๔ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งนายสมัคร สุนทรเวช นายประมวล จันทโรวาทหรือจันทโรวาส นายพจน์บุษปาคม และนางสาวขี่ฮวยหรือกีฮวย แซ่อึ้ง ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางสุวพีร์ธรรมวัฒนะ ผู้ตาย ต่อมานายพจน์ บุษปาคมหรือปุษปาคม ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่จัดการมรดกรายนี้ต่อไป
วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ผู้ร้องที่ ๓ และที่ ๔ ยื่นคำร้องขอว่านายสมัคร สุนทรเวช และนายประมวล จันทโรวาทหรือจันทโรวาส ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ โดยไม่จัดการมรดกด้วยตนเอง แต่ได้มอบให้บริษัทสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ(๑๙๙๐) จำกัด เป็นตัวแทนในการบริหารจัดการทรัพย์สินซึ่งเป็นที่ตั้งตลาดยิ่งเจริญแล้วนำเงินรายได้เข้ากองมรดก และละเลยไม่ดำเนินการตามหน้าที่ กรณีที่ทายาทบางคนนำเงินกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และนำไปให้บุคคลภายนอกใช้จ่าย ขอให้ถอนนายสมัครสุนทรเวช และนายประมวล จันทโรวาทหรือจันทโรวาสจากการเป็นผู้จัดการมรดก
ระหว่างศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดก ผู้ร้องที่ ๓ และที่ ๔ ยื่นคำร้องลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๒ ว่า ตามพินัยกรรมกำหนดให้ผู้จัดการมรดกจัดตั้งบริษัทจำกัด ชื่อ บริษัทสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เรียกว่า ตลาดยิ่งเจริญเข้าเป็นทุนของบริษัทและให้ทายาทเป็นผู้ถือหุ้นแต่ผู้จัดการมรดกละเลยให้ทายาทนำบริษัทสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ (๑๙๙๐) จำกัดเข้าบริหารงานในทรัพย์สินที่เรียกว่าตลาดยิ่งเจริญ อันเป็นการขัดต่อพินัยกรรมผู้ร้องที่ ๓ และที่ ๔ ได้เรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติตามพินัยกรรมแล้ว เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๒ ผู้จัดการมรดกได้นัดประชุมทายาทและที่ปรึกษาแล้วมีมติให้บริษัทสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด เข้าบริหารทรัพย์สินของกองมรดกแทนบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ (๑๙๙๐) จำกัด แต่ผู้จัดการมรดกมิได้ปฏิบัติตามมติดังกล่าว ผู้ร้องที่ ๓และที่ ๔ ไม่อาจบังคับผู้จัดการมรดกให้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมดังกล่าว จึงขอให้ศาลบังคับผู้จัดการมรดกปฏิบัติตามมติที่ประชุมอันเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหากผู้จัดการมรดกไม่ปฏิบัติขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของผู้จัดการมรดกทั้งสามด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก การจัดการมรดกเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก เมื่อผู้ร้องเห็นว่าผู้จัดการมรดกไม่กระทำตามหน้าที่ ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ผู้ร้องชอบที่จะร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดก ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกแล้วคดีอยู่ระหว่างการไต่สวนคำร้องขอ กรณีตามคำขอท้ายคำร้องนี้ไม่อาจบังคับให้ได้ ยกคำร้อง
ผู้ร้องที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่ผู้ร้องที่ ๓ และที่ ๔อุทธรณ์ว่า เมื่อผู้จัดการมรดกไม่จัดการมรดกตามมติของที่ประชุมผู้จัดการมรดกซึ่งมีมติให้จัดการมรดกไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรม ผู้ร้องที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นทายาทได้ร้องขอให้จัดการมรดกตามมติของที่ประชุมดังกล่าวแล้ว ทายาทในฐานะตัวการย่อมมีสิทธิบังคับให้ผู้จัดการมรดกในฐานะตัวแทนดำเนินการตามหน้าที่ได้แต่เนื่องจากเป็นผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้ง ผู้จัดการมรดกจึงอยู่ในความควบคุมดูแลของศาล และศาลย่อมมีอำนาจบังคับให้ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งให้ปฏิบัติตามหน้าที่ได้เมื่อทายาทร้องขอ เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรมของเจ้ามรดกที่ได้ระบุตัวบุคคลและจำนวนผู้จัดการมรดกไว้และตามที่ผู้ร้องทั้งเจ็ดซึ่งเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๗๑๙ และการจัดการมรดกเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการโดยตนเองจะให้ผู้ใดทำแทนไม่ได้ เว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นให้ผู้จัดการมรดกมอบให้ตัวแทนทำการได้ตามอำนาจที่ให้ไว้โดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายในพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาลหรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๒๓ ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิใช่ตัวแทนของทายาท อำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้จัดการมรดกจึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทในอันที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท ทายาทหามีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใดได้ เพียงแต่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทโดยกฎหมายอนุโลมให้นำบทบัญญัติบางมาตราของลักษณะตัวแทนมาใช้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๒๐ และทายาทย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ในขอบอำนาจที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๒๗ ด้วย ส่วนการที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาที่ผู้จัดการมรดกจะต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกตามมาตรา๑๗๒๙ ให้ศาลมีอำนาจถอนผู้จัดการมรดกเมื่อมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้ ตามมาตรา ๑๗๓๑ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคน และการทำการตามหน้าที่มีเสียงเท่ากันไม่อาจหาเสียงข้างมากได้ตามมาตรา ๑๗๒๖ ให้ศาลมีอำนาจกำหนดเวลาการทำรายงานแสดงบัญชี การจัดการและแบ่งปันมรดกของผู้จัดการมรดก ตามมาตรา ๑๗๓๒ หรือให้ศาลมีอำนาจสั่งถอนผู้จัดการมรดกตามที่ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอ และการที่ผู้จัดการมรดกจะลาออกจากตำแหน่งได้ต้องได้รับอนุญาตจากศาลตามมาตรา ๑๗๒๗ วรรคสอง นั้นเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลเป็นผู้ดูแลให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปโดยเรียบร้อย แต่การที่จะดำเนินการให้บริษัทสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด ที่ตั้งตามพินัยกรรมเข้าบริหารทรัพย์สินของกองมรดกแทนบริษัทสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ (๑๙๙๐) จำกัด ตามคำร้องของผู้ร้องที่ ๓ และที่ ๔ นั้นเป็นวิธีการจัดการมรดกซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำเอง ทายาทไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ผู้จัดการมรดกกระทำการดังกล่าว และมิใช่อำนาจของศาลที่จะบังคับให้ผู้จัดการมรดกกระทำได้
พิพากษายืน.

Share