คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1216/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ที่มีทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่อาจขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 19/2543 หมายเลขแดงที่ 122/2546 ของศาลชั้นต้นให้รับผิดฐานละเมิด จ้างแรงงาน ค้ำประกัน จำนอง รับสภาพนี้ คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 915,818 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท โจทก์จึงขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีออกยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 10986 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินดังกล่าวเพียง 90,570 บาท และเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทรัพย์สินดังกล่าวได้ ในราคาร้อยละ 50 ของราคาประเมิน โจทก์จึงได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาต่อไป จนกระทั่งวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 โจทก์จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้มีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 10986 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ออกเป็นแปลงย่อยจำนวน 3 แปลง คือ แปลงที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 43170 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ 16 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา แปลงที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 43171 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา แปลงที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 43172 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชับภูมิ จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 59 ตารางวา ซึ่งที่ดินดังกล่าวเดิมก่อนมีการแบ่งแยกโฉนดเป็นแปลงย่อย จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองประกันการทำงานของนายอาทิตย์ โดยในระหว่างการทำงานนั้นจำเลยที่ 1 ได้มาขอให้โจทก์ไถ่ถอนจำนอง เพื่อจะนำไปแบ่งแยกที่ดินในนามเดิมแล้วจะนำกลับมาจดทะเบียนจำนองไว้เพื่อเป็นประกัน การทำงานของนายอาทิตย์เช่นเดิม โจทก์จึงได้ไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 ไปแบ่งแยกตั้งแต่ปี 2538 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์เลยจนถึงปัจจุบัน โดยจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 43170 ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ไว้แก่จำเลยที่ 4 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 43171 และ 43172 นั้นจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 43172 ไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ไว้แก่จำเลยที่ 5 โจทก์จึงได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดชัยภูมิดำเนินการยึดทรัพย์ที่ดินดังกล่าว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถดำเนินการยึดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 กระทำลงโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ โดยการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปจำนองไว้ โดยเจตนาทุจริตแก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 เพื่อให้หลุดพ้นจากการบังคับคดีของศาล โจทก์จึงได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งห้าเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมดเสียเพื่อที่โจทก์จะได้ใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป จำเลยทั้งห้าได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 43170 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2540 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2545 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 43171 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2544 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 43172 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2539 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2549 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 5 กลับคืนมาเป็นของจำเลยที่ 1 หากคืนไม่ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ ขอถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้า
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 10986 จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์เพื่อประกันการทำงานของนายอาทิตย์ และในระหว่างที่นายอาทิตย์ทำงานอยู่กับโจทก์เมื่อปี 2538 จำเลยที่ 1 ได้ขอไถ่ถอนที่ดินแปลงดังกล่าวจากโจทก์เพื่อไปดำเนินการแบ่งแยก โจทก์อนุญาต โจทก์ทราบถึงการฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 แล้วตั้งแต่ปี 2543 ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเพิ่งทราบถึงการฉ้อฉลเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 โดยตรวจสอบพบว่า จำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 10986 เป็นแปลงย่อมจึงเป็นความเท็จ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ทายาทตั้งแต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 122/2546 และก่อนฟ้องคดีนี้ เมื่อโจทก์ไม่ฟ้องขอให้เพิกถอนจนล่วงเลยกำหนด 1 ปี นับแต่วันทราบมูลแห่งการฉ้อฉล คดีโจทก์จึงขาดอายุความ และในส่วนที่โจทก์ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 นั้นเกิน 10 ปี นับแต่วันทำนิติกรรมคดีโจทก์จึงขาดอายุความสำหรับนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 43172 ฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2539 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43172 จากจำเลยที่ 3 จริง แต่มิได้กระทำโดยมีเจตนาฉ้อฉลโจทก์เพราะก่อนรับจำนองจำเลยที่ 5 ไม่ทราบมาก่อนว่า จำเลยที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวมาอย่างไร จำเลยที่ 3 แสดงเจตนาต่อจำเลยที่ 5 ว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 โดยชอบด้วยกฎหมาย มีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ การรับจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 3 เป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 5 เป็นทางการค้าปกติของจำเลยที่ 5 การรับจำนองที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 43171 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2544 โดยให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนเพิกถอนการให้ที่ดินดังกล่าวหากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 กับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นให้ยก กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา ถือได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ในประเด็นข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 431172 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ขาดอายุความหรือไม่ นั้น แม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ตามแต่ที่โจทก์อุทธรณ์ในประเด็นข้อต่อไป เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 43170 และ 43172 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ โดยโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของนายอาทิตย์ไว้ต่อโจทก์จึงเป็นการค้ำประกันหนี้ในอนาคตอันเป็นผลให้จำเลยที่ 1 มีความผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันก็ตาม แต่กรณีไม่อาจถือได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 43170 ให้แก่จำเลยที่ 25 และโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 431172 ให้แก่จำเลยที่ 3 โดยเสน่หานั้น เป็นการกระทำโดยรู้อยู่ว่าเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของโจทก์จึงมิใช่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่อาจขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว”
พิพากษายกคำสั่งชั้นต้นที่สั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา

Share