แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับจดทะเบียนกองทรัพย์สินของโครงการจัดการกองทุนรวมโจทก์เป็นกองทุนรวมตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 124 วรรคสอง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว. เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนโจทก์ โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว. เป็นผู้แทนโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว. จึงมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ยอมชำระหนี้ โจทก์จึงขอศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยและโจทก์ได้ยื่นคำขอตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตรับผิดชอบ แต่ไม่พบว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะให้ยึดมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้เพื่อให้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยมีหนี้สิ้นล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และนำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายนับว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวม เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้จัดการและรับผิดชอบในการดำเนินการจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 6788/2545 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 25,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จคิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 6 พฤศจิกายน 2544) ไม่เกิน 22,315,068.51 บาท กับค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทน จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์ขอศาลออกหมายบังคับคดี แต่จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ จำเลยเป็นหนี้โจทก์คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 66,907,534.26 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยเฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้คดีหมายเลขแดงที่ 6788/2545 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 25,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จคิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 6 พฤศจิกายน 2544) ไม่เกิน 22,315,068.51 บาท กับค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเงิน 66,907,534.26 บาท หลังจากศาลมีคำพิพากษา จำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์ขอศาลออกหมายบังคับคดี และยื่นคำขอตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง ซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตรับผิดชอบแล้วไม่พบว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่อย่างใดจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีต้องด้วยข้อสันนิฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด มิได้มีฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์เพราะไม่มีกฎหมายรับรองไว้ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมซึ่งเป็นผู้จัดตั้งกองทุนรวมแล้วจะมีฐานะเป็นตัวแทนของกองทุนรวมได้ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 124 วรรคสอง บัญญัติว่า “กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วให้เป็นนิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์นำทรัพย์สินของกองทุนรวมไปลงทุนตามโครงการจัดการกองทุนรวมตามที่ได้รับอนุมัติโดยให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวม”เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับจดทะเบียนกองทรัพย์สินของโครงการจัดการกองทุนรวมไทยรีสตรัค เจอริ่ง โจทก์ เป็นกองทุนรวมตามบทกฎหมายดังกล่าวตามทะเบียนเลขที่ 31/2542 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนโจทก์แล้ว ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้แทนโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด จึงมีอำนาจดำเนินการแทนโจทก์รวมทั้งดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด โดยกรรมการผู้มีอำนาจมอบอำนาจและมอบอำนาจช่วงให้ดำเนินคดีแก่จำเลยโดยชอบตามหนังสือรับรองหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงให้ดำเนินคดีเอกสารหมาย จ.2 จ.4 และ จ.5 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริตหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่สำนักงานที่ดินเพียงแห่งเดียวแล้วอ้างว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินกลับใช้สิทธิฟ้องให้จำเลยล้มละลายโดยไม่สุจริต เห็นว่า การที่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6788/2545 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ยอมชำระหนี้ โจทก์จึงขอศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยและโจทก์ได้ยื่นคำขอตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง ซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตรับผิดชอบ แต่ไม่พบว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่อย่างใดที่จะให้ยึดมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้เพื่อให้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และนำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายนั้น นับว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) จำเลยจึงมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยมีทรัพย์สินจำนวนมากอยู่ในขั้นตอนการขายทอดตลาดทรัพย์ และมีจดหมายไปให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมกับอยู่ในขั้นตอนการโอนทรัพย์สินตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี จดหมายสำนักงานวีระทนายความหนังสือองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน และบันทึกการส่งมอบทรัพย์สินและหนี้สินเอกสารหมาย ล.1, ล.2, ล.3 และ ล.4 ตามลำดับ นั้น เห็นว่า ตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเอกสารหมาย ล.1 เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ในคดีศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 16344/2534 ซึ่งมีจำเลยเป็นโจทก์โดยมีที่ดิน 2 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างมีราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพียง 3,550,000 บาท และอยู่ในระหว่างประกาศขายทอดตลาดซึ่งไม่แน่นอนว่าจะขายได้ในราคาดังกล่าวหรือไม่ ทั้งมีราคาไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1267, 1273, 1275, 1390, 49637, 49664 และ 70397 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ที่ทนายความของนายประมุข มีหนังสือไปยังกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยขอให้ไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินของนายประมุขและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบึงกุ่ม มีหนังสือไปยังกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยให้ไประวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองเขตที่ดินตามเอกสารหมาย ล.2 นั้น จำเลยก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยจริงหรือไม่ มีราคาเท่าใด เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ทั้งหมดหรือไม่ ส่วนทรัพย์สินตามบันทึกการส่งมอบทรัพย์สินและหนี้สิน เอกสารหมาย ล.4 จำเลยก็มิได้นำสืบให้เห็นว่ามีทรัพย์สินอะไรบ้างที่สามารถนำมาชำระหนี้โจทก์ได้ และเมื่อพิจารณาตามเอกสารดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2537 ก่อนโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เป็นเวลา 10 ปีเศษ ทรัพย์สินของจำเลยไม่แน่นอนว่าจะมีอยู่อีกหรือไม่ ประกอบกับตามหมวด 2 สินทรัพย์และหนี้สินที่รับโอนในเอกสารดังกล่าวระบุว่าทรัพย์สินที่โอน จำนวน 647,222,760.61 บาท หนี้สินโอนจำนวน 648,354,137.28 บาท หนี้สินที่โอนมากกว่าทรัพย์สินจำนวน 1,131,376.67 บาท กลับแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ข้อนำสืบของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีหนี้สิ้นล้นพ้นตัว และกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ