คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1457/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์จำเลย 40,000 บาท แต่โจทก์กลับนำแบบพิมพ์หนังสือสัญญากูยืมเงินที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้กู้ไปกรอกข้อความเป็นว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 50,000 บาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย จึงเป็นเอกสารปลอม คดีจึงมีประเด็นเพียงว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 50,000 บาท ตามฟ้องหรือไม่ไม่มีประเด็นว่า จำเลยได้ชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ ดังนั้น จำเลยจะนำสืบว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วหาได้ไม่ เป็นการนำสืบนอกประเด็น ส่วนที่จำเลยให้การไว้ตอนหนึ่งว่าจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วเป็นการให้การประกอบข้ออ้างที่ว่าจำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์ 40,000 บาท มิใช่เป็นการให้การในประเด็นที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจำนวน 50,000 บาท ที่โจทก์ยกขึ้นเป็นข้ออ้างในคำฟ้อง การที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของจำเลยแล้วเชื่อว่าจำเลยชำระหนี้จำนวนตามฟ้องให้โจทก์แล้ว จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2539 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 50,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันที่ 5 ของเดือน และจะชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 30 เมษายน 2540 ภายหลังทำสัญญาจำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เพียง 2,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 86,226 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 40,000 บาท แต่โจทก์กลับนำแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้ยืมเงินคดีนี้ที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้กู้ไปกรอกข้อความเป็นว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 50,000 บาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย หนังสือสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์หาอาจนำมาเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องจำเลยได้ไม่ สำหรับหนี้จำนวน 40,000 บาท จำเลยได้ชำระให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2539 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 50,000 บาท โดยจำเลยเป็นผู้เขียนรายละเอียดและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.2 ปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การว่า จำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 40,000 บาท แต่โจทก์กลับนำแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้กู้ไปกรอกข้อความเป็นว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 50,000 บาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย หนังสือสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นเอกสารปลอม คดีจึงมีประเด็นเพียงว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ไม่มีประเด็นว่า จำเลยได้ชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ ดังนั้น จำเลยจะนำสืบว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วหาได้ไม่ เป็นการนำสืบนอกประเด็น ส่วนที่จำเลยให้การไว้ตอนหนึ่งว่า จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วนั้นก็เป็นการให้การประกอบข้ออ้างที่ว่าจำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์ 40,000 บาท มิใช่เป็นการให้การในประเด็นที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจำนวน 50,000 บาท ที่โจทก์ยกขึ้นเป็นข้ออ้างในคำฟ้อง การที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของจำเลยแล้วเชื่อว่าจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เป็นการไม่ชอบ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 50,000 บาท และได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 กับโจทก์ ก็ต้องฟังว่าจำเลยยังไม่ได้ชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 ให้แก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง โดยจำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์แล้วจำนวน 2,500 บาท และเมื่อจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 83,726 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 กันยายน 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท

Share