คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3453/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษ ในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะดังนี้การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนจึงต้องบังคับตามมาตรา 21(1) ถึง (5) แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และในขณะที่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530และในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ มีผลใช้บังคับคือวันที่ 1 มกราคม 2531 ที่ถูกโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีราคาไม่สูงเกินกว่าจำนวนค่าทดแทนที่โจทก์เคยอุทธรณ์และเคยฟ้องต่อศาลและราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินโจทก์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯต่ำกว่าจำนวนค่าทดแทนที่ดินที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่โจทก์ดังนั้น เมื่อจำนวนค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้ เป็นการกำหนดโดยได้คำนึงถึง (1)ถึง (5) ของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จึงเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ต้องเวนคืนที่ดินแปลงใดแต่เพียงบางส่วน ถ้าเนื้อที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นน้อยกว่ายี่สิบห้าตารางวา หรือด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่าห้าวา และที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นมิได้ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกัน หากเจ้าของร้องขอ ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือด้วยนั้น บัญญัติขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่เวนคืนทำการเวนคืนทำการเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากเจ้าของที่ดินเพราะที่ดินส่วนที่เหลืออยู่น้อยหรือมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ทำประโยชน์ต่อไป เมื่อปรากฏว่าที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีจำนวน 361 ตารางวา และเป็นผืนเดียวติดต่อกัน มิได้ถูกแบ่งแยกเป็นส่วน ๆ หากที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนี้มีด้านใดด้านหนึ่งน้อยกว่าห้าวาซึ่งสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ทำประโยชน์ต่อไปแล้ว โจทก์ก็ชอบที่จะร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดที่ดินส่วนที่เหลือนี้ทั้งหมดได้แต่โจทก์ใช้ที่ดินส่วนที่เหลือนี้เนื้อที่ประมาณ 321 ตารางวาทำถนนคอนกรีตเพื่อประโยชน์ของโจทก์จนเหลือที่ดินอยู่ตามที่โจทก์อ้างประมาณ 40 ตารางวา ซึ่งมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์ต่อไป แสดงว่าสภาพของที่ดินในส่วนนี้เกิดจากการกระทำของโจทก์ มิใช่เกิดจากการเวนคืนโดยตรงโจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินเฉพาะส่วนนี้ตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 121879 เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 56 ตารางวาเมื่อปลายปี 2530 มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขต เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวันเขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ที่ดินโจทก์ทั้งห้าดังกล่าวถูกเวนคืน เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน95 ตารางวา จำเลยที่ 1 และที่ 2 กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งห้าตารางวาละ 4,000 บาท โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพิ่มเงินค่าทดแทนให้โจทก์อีกตารางวาละ 2,000 บาท เฉพาะที่ดินบางส่วนเนื้อที่ 2 ไร่ 25 ตารางวา รวมเป็นเงิน 5,630,000 บาทต่อมาเมื่อมีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่มเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งห้าอีก1,693,200 บาท โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 เพิ่มเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งห้าอีก 6,072,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งห้าได้รับจำนวน 13,395,200 บาท เฉลี่ยตารางวาละ 13,462.50 บาทโจทก์ทั้งห้าควรได้รับเงินค่าทดแทนตารางวาละ 20,000 บาท นอกจากนี้มีที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนอีก 32 ถึง 40 ตารางวา และกว้างไม่ถึง 5 เมตร โจทก์ทั้งห้าไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เพราะที่ดินที่เหลือแนวเขตไม่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของโจทก์ทั้งห้าขอให้จำเลยทั้งสามซื้อที่ดิน 40 ตารางวา ราคาตารางวาละ20,000 บาท รวมเป็นค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสามจะต้องชดใช้ให้โจทก์ทั้งห้า 7,304,800 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 กันยายน 2535 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 804,528 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงิน 8,109,328 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ10 ต่อปี จากต้นเงิน 7,304,800 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งสามให้การว่า การกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งห้าเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 121879 เนื้อที่ 3 ไร่1 งาน 56 ตารางวา ที่ดินโจทก์ทั้งห้าดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 2 ไร่1 งาน 95 ตารางวา อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2531จำเลยทั้งสามกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ทั้งห้าที่ถูกเวนคืนเฉลี่ยตารางวาละ 13,461.50 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้ามีว่า จำเลยทั้งสามกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ทั้งห้าที่ถูกเวนคืนตารางวาละ13,461.50 บาท เป็นธรรมหรือไม่ โจทก์ทั้งห้าฎีกาสรุปว่าที่ดินโจทก์ทั้งห้าที่ถูกเวนคืนควรจะได้รับเงินค่าทดแทนตารางวาละ 20,000 บาทนั้น เห็นว่า ไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดเงินค่าแทนไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนี้การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้าจึงต้องบังคับตามมาตรา 21(1)ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 แล้ววินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่า สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 121879 ของโจทก์ทั้งห้า มีลักษณะยาวแต่แคบตลอดทั้งแปลงเป็นรูปเส้นก๋วยเตี๋ยว การจัดแบ่งให้เป็นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยต้องกันที่ดินส่วนหนึ่งเป็นถนนยาวขนานตลอดทั้งแปลง ที่ดินโจทก์ทั้งห้าแปลงนี้ ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง รถยนต์เข้าไม่ได้ มีสภาพเป็นที่นา ที่ดินห่างจากถนนประชาชื่น 1,500 เมตร นอกจากนี้ยังได้ความอีกว่าโจทก์ทั้งห้าเคยยื่นอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนและเคยฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 12,000 บาทดังนี้แสดงให้เห็นได้ว่าในขณะที่พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ มีผลใช้บังคับ คือวันที่1 มกราคม 2531 ที่ดินโจทก์ทั้งห้าที่ถูกเวนคืนมีราคาไม่สูงเกินกว่าจำนวนค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งห้าเคยอุทธรณ์และเคยฟ้องต่อศาลดังกล่าวราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินโจทก์ทั้งห้าที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ น่าจะต่ำกว่าจำนวนค่าทดแทนที่ดินที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งห้า ดังนั้นจำนวนค่าทดแทนที่ดินโจทก์ทั้งห้าที่ถูกเวนคืนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้นั้นจึงเป็นการกำหนดโดยได้คำนึงถึง (1) ถึง (5) ของมาตรา 21พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าประการต่อมามีว่าจำเลยทั้งสามจะต้องเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินโจทก์ทั้งห้าในส่วนที่เหลือเฉพาะเนื้อที่ที่ไม่ได้เป็นถนนประมาณ 32 ตารางวา ถึง40 ตารางวา หรือไม่ โจทก์ทั้งห้าฎีกาสรุปว่า แม้ที่ดินโจทก์ทั้งห้าจะเหลือจากการถูกเวนคืนถึง 361 ตารางวา แต่ที่ดินส่วนที่เหลือตั้งแต่ส่วนที่ติดกับที่ดินเลขที่ 7766 มาทางทิศตะวันออกถึงที่ดินเลขที่ 7789 มีความกว้างน้อยกว่าห้าวา โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสามเวนคืนที่ดินที่เหลือเฉพาะส่วนที่ไม่ได้เป็นถนนจำนวน32 ตารางวา ถึง 40 ตารางวา ในราคาตารางวาละ 20,000 บาท ได้นั้น พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่ต้องเวนคืนที่ดินแปลงใดแต่เพียงบางส่วน ถ้าเนื้อที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นน้อยกว่ายี่สิบห้าตารางวา หรือด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่าห้าวา และที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นมิได้ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกัน หากเจ้าของร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือด้วย เห็นว่า กฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่เวนคืนทำการเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากเจ้าของที่ดินเพราะที่ดินส่วนที่เหลืออยู่น้อยหรือมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ทำประโยชน์ต่อไป ปรากฏว่าที่ดินโจทก์ทั้งห้าที่เหลือจากการเวนคืนมีจำนวน 361 ตารางวา และเป็นผืนเดียวติดต่อกันมิได้ถูกแบ่งแยกเป็นส่วน ๆ หากที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนี้มีด้านใดด้านหนึ่งน้อยกว่าห้าวาซึ่งสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ทำประโยชน์ต่อไปแล้ว โจทก์ทั้งห้าก็ชอบที่จะร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดที่ดินส่วนที่เหลือนี้ทั้งหมดได้ แต่โจทก์ทั้งห้าใช้ที่ดินส่วนที่เหลือนี้เนื้อที่ประมาณ 321 ตารางวา ทำถนนคอนกรีตเพื่อประโยชน์ของโจทก์ทั้งห้าแล้วจนเหลือที่ดินอยู่ตามที่โจทก์อ้างประมาณ 40 ตารางวา ซึ่งมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์ต่อไป แสดงว่าสภาพของที่ดินในส่วนนี้เกิดจากการกระทำของโจทก์ทั้งห้ามิใช่เกิดจากการเวนคืนโดยตรง โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินเฉพาะส่วนนี้
พิพากษายืน

Share