แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดชิงทรัพย์กรรมหนึ่ง แล้วจึงฆ่าผู้ตายโดยเจตนาอีกกรรมหนึ่ง แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเพียงอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้ตายโดยมีอาวุธ อันเป็นความผิดตามป.อ. มาตรา 339 วรรคสองเท่านั้น จะลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 339วรรคท้ายไม่ได้ ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 และปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นอ้างเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสองศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามโจทก์มิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 11 ดังนั้นโจทก์จึงฎีกาขอให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288, 339, 339 ทวิ, 91, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 14 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 6,700 บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 339 วรรคท้าย แต่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองกระทำเป็นการโหดร้ายทารุณ จึงให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 6,700 บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายกระทำผิดเป็นคดีนี้จริง แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่ร่วมกันกระทำผิดคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้ายและวางโทษตามมาตราดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดนั้นศาลฎีกาเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน คือ ชิงทรัพย์กรรมหนึ่ง แล้วจึงฆ่าผู้ตายโดยเจตนาอีกกรรมหนึ่งโจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายไม่ คำฟ้องของโจทก์เป็นเพียงอ้างว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้ตายโดยมีอาวุธติดตัว อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง เท่านั้น จึงลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย ไม่ได้ เป็นการเกินไปจากที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192ซึ่งห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับฟังต้องกันมาและศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยนั้น จำเลยทั้งสองคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 339 วรรคสอง, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 บัญญัติไว้ ส่วนกำหนดโทษคงต้องเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยอ้างพฤติการณ์ว่า จำเลยกระทำโดยมีใจดุร้ายนั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เฉพาะกำหนดโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต เป็นการแก้ไขเล็กน้อย โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา218 วรรคสองซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 11โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสองเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2 อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 335 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิตนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.