แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยอายุ 15 ปีเศษ ในขณะกระทำความผิด อันอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องอายุของจำเลยมิได้ปรากฏขึ้นในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดา แต่ปรากฏในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา และคดีนี้ได้ทำการพิจารณาโดยศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว อันถือได้ว่าเป็นการโอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 15 แล้ว จึงไม่ต้องโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัว จำเลยกระทำความผิดขณะอายุยังไม่เกิน 17 ปี จึงต้องลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยได้ลักเอาเงินสดจำนวน 500 บาท ของนายไพฑูรย์นาคคำ ผู้เสียหายไปโดยทุจริต เหตุเกิดที่แขวงอรุณอัมรินทร์เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 335(1)วรรคแรก) จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า จำเลยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ ในขณะกระทำความผิด อันอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ปัญหาว่า จะต้องโอนคดีนี้ไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา15 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่าข้อเท็จจริงในเรื่องอายุหรือการบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสของบุคคลที่เกี่ยวข้องจะผิดไป หรือศาลอื่นใดได้รับพิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ต้องด้วยมาตรา 13 ซึ่งถ้าปรากฏเสียแต่ต้นจะเป็นเหตุให้ศาลนั้น ๆ ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาก็ตามข้อบกพร่องดังกล่าวไม่ทำให้การพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดา และศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวเสียไป” และมาตรา 15 วรรคสอง บัญญัติว่า”ถ้าข้อเท็จจริงตามวรรคหนึ่งปรากฏขึ้นในระหว่างการพิจารณาไม่ว่าในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ศาลนั้น ๆ โอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป” เมื่อข้อเท็จจริงในเรื่องอายุของจำเลยมิได้ปรากฏขึ้นในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นแต่ปรากฏในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา และคดีนี้ได้ทำการพิจารณาโดยศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอันถือได้ว่าเป็นการโอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไปตามบทมาตราของพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว จึงไม่ต้องโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งขอให้ลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 และรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยไว้นั้น เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดขณะอายุยังไม่เกิน 17 ปี จึงต้องลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา75 ส่วนปัญหาว่า สมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยยังอยู่ในระหว่างการศึกษาเล่าเรียน และโทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์กำหนดแก่จำเลยเป็นโทษจำคุกระยะสั้น จึงสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีสักครั้งหนึ่งโดยการรอการลงโทษจำคุกไว้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 คงจำคุกจำเลย 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์